แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

korat_truth

  

 ในบทความสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนเรื่องค่าภาคหลวงและการแบ่งปันผลประโยชน์ในการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโครเลียมในประเทศไทยเอาไว้ โดยระบุว่าประเทศไทยไม่ได้เสียเปรียบผู้รับสัมปทานมากมายอย่างที่มีผู้ พยายามนำไปขยายความตามสื่อสังคม (social media) ต่างๆว่า ประเทศไทยได้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิดแค่ 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ค้นพบเท่านั้น โดยผมได้แสดงตัวเลขของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานให้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า เราได้ส่วนแบ่งรายได้รวมกันทั้งสิ้นถึง 60% ในขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดนั้นได้ส่วนแบ่งรายได้ไปเพียง 40% เท่านั้น

เนื่องจากมีท่านผู้อ่านสนใจสอบถามในรายละเอียดของกฏหมายปิโตรเลียมและการ แบ่งปันรายได้ว่ามีรายละเอียดในการคิดกันอย่างไร ดังนั้นในวันนี้ผมจึงขอพูดถึงเรื่องนี้กันอีกสักครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเริ่มกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2464 เป็นการสำรวจหาน้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถไฟ และในระยะแรกดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ต่อมาในปี 2504-07 ได้มีเอกชนจากต่างประเทศมาขอดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมบนบก จึงได้มีการให้สิทธิการสำรวจไปภายใต้กฏหมายว่าด้วยเหมืองแร่

การสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยเริ่มต้นยุคปัจจุบันกันอย่างจริงจังในปี 2510 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุนสำรวจหาปิโตรเลียม ในประเทศ จึงได้เลือกระบบสัมปทานซึ่งจูงใจให้มีการมาลงทุน และได้ร่างกฏหมายว่าด้วยปิโตรเลียมขึ้นมาเพื่อใช้กับการให้สัมปทาน ปิโตรเลียมโดยเฉพาะแทนการใช้กฏหมายเหมืองแร่

ปี 2514 การยกร่างกฏหมายปิโตรเลียมแล้วเสร็จประกาศใช้เรียกว่า พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยมีหลักการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเมื่อมีกำไร ให้แบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรในอัตราครึ่ง หนึ่ง โดยเรียกระบบการแบ่งปันผลประโยชน์นี้ว่า ระบบ Thailand 1

korat_pitrolium


ระบบ Thailand 1 มีข้อกำหนดดังนี้

1. เก็บค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 12.5 ของรายได้จากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม
2. เก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

จะเห็นได้ว่าการแบ่งปันรายได้ตามระบบ Thailand 1 นี้ รัฐจะได้ส่วนแบ่งรายได้สูงกว่า 50% ของกำไรสุทธิของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลดหย่อนลงเหลือ 23% หรือ 20% เหมือนภาษีนิติบุคคลอื่นๆที่ได้ปรับลดหย่อนลงมาในปัจจุบันแต่อย่างใด

ต่อมาในปี 2524 ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งขึ้นสูงมาก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมมากขึ้น ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเล จึงเกิดความคิดที่จะเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้สัมปทานปิโตรเลียมให้มาก ขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ยื่นขอสัมปทานรายใหม่ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นไป ต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้รัฐเพิ่มขึ้นจากระบบ Thailand 1 เรียกว่าระบบ Thailand 2 โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ

1. ผู้รับสัมปทานจะหักค่าใช้จ่ายในแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของรายได้ในปีนั้น (ของเดิมหักได้ตามจริง)

2. ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (นอกเหนือจากค่าภาคหลวง) ตามปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเพิ่มขึ้นดังนี้

2.1 ส่วนทีผลิตเฉลี่ยวันละ 10,000-20,000 บาร์เรล/วัน จ่ายร้อยละ 27.5
2.2 ส่วนทีผลิตเฉลี่ยวันละ 20,000-30,000 บาร์เรล/วัน จ่ายร้อยละ 37.5
2.3 ส่วนทีผลิตเฉลี่ยวันละ 30,000 บาร์เรล/วันขึ้นไป จ่ายร้อยละ 43.5

ระบบ Thailand 2 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2525 มีผู้ได้รับสัมปทานภายใต้ระบบนี้ 7 ราย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้รับสัมปทานรายใดสามารถพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมภายใต้ ระบบนี้ได้เลย เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งขนาดเล็ก (marginal fields) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยค่อนข้างสูง หลายแหล่งที่สำรวจพบไม่สามารถพัฒนาการผลิตในเชิงพาณิชย์ภายใต้ระบบ Thailand 2 ได้ เนื่องจากผู้รับสัมปทานต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐมากจนกระทั่งไม่มี กำไร ดังนันจึงไม่มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ภายใต้ระบบ Thailand 2 แต่อย่างใด

ดังนั้นเพื่อให้ได้ระบบที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดกับลักษณะทางกายภาพของ แหล่งสำรองปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมทั้งมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ยืดหยุ่นและสามารถจัดสรรผลประโยชน์แก่รัฐ และผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฏหมายปิโตรเลียมอีกครั้งหนึ่ง

โดยในปี 2532 ได้ออกเป็นพรบ.ปิโตรเลียม และพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) หรือที่เรียกว่า ระบบ Thailand 3 โดยมีข้อกำหนดเพื่อกระตุ้นการลงทุนดังนี้

1. ปรับปรุงอัตราค่าภาคหลวงจากเดิมที่กำหนดในอัตราตายตัวที่ร้อยละ 12.5 เป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดตามปริมาณการขาย คือ

บาร์เรล/เดือน ร้อยละ
0-60,000 5.00
60,000-150,000 6.25
150,000-300,000 10.00
300,000-600,000 12.50
600,000 ขึ้นไป 15.00

2. เพิ่มการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเข้ารัฐ (Special Remuneration Benefit หรือ SRB) ในลักษณะของการเรียกเก็บ Windfall Profit Tax โดยมีหลักการว่า เมื่อผู้ลงทุนมีกำไรมากแล้ว รัฐก็ควรได้รับส่วนแบ่งเพิ่มเติม (SRB) ในสัดส่วนที่สูงขึ้น นอกเหนือไปจากค่าภาคหลวงและภาษีที่ได้รับอยู่ตามปกติ

ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวจะช่วยให้รัฐได้รับประโยชน์มากขึ้น ในกรณีที่มีการพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ หรือราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

3. ในส่วนของภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้น ยังคงไว้ในอัตราเดิมคือร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

ระบบ Thailand 3 ได้รับการประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2532 และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า 20 ปี มาจนทุกวันนี้ ทำรายได้เข้าประเทศปีที่แล้วเป็นเงิน 161,000 ล้านบาท

แต่ก็ยังถูกโจมตีจากคนกลุ่มหนึ่งอย่างซ้ำๆซากๆว่า ประเทศไทยได้ผลตอบแทนจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมต่ำเกินไป แรกๆก็ประโคมข่าวเสียใหญ่โต ส่งข่าวผ่าน internet, social media กันเป็นไฟลามทุ่งว่า รัฐบาลได้ส่วนแบ่งแค่ 12.5% พอถูกยันด้วยข้อมูลจริงว่ายังมีภาษีรายได้ปิโตรเลียมอีก 50% ก็หันไปใช้ตัวเลข 30% แทน พอถามว่าตัวเลข 30% มาจากไหน เพราะตัวเลขของทางการคือ 60% ของกำไร ก็เลี่ยงไปอีกว่า ต้องคิดจากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย

ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถามว่า คุณอยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร ลงทุนก็ไม่ได้ลงทุน ความเสี่ยงก็ไม่รับ แต่จะขอแบ่งถึง 70-80% ของรายได้ ใครเขาจะมาลงทุน ถ้าประเทศเรามีทรัพยากรมาก เป็นแหล่งใหญ่แบบเดียวกับ ซาอุดิอาเรเบีย หรือ เวเนซูเอล่า ก็ว่าไปอีกอย่าง อาจตั้งเงื่อนไขต่อรองได้สารพัด

แต่ทุกวันนี้เราต้องนำเข้าพลังงานมากมายมหาศาลเป็นเงินถึงปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ถ้าค้นพบแหล่งพลังงานในบ้านก็ต้องรีบเอาขึ้นมาใช้ จะได้ลดการนำเข้า ประหยัดเงินตราต่างประเทศรัฐก็มีรายได้จากการให้สัมปทานปีละแสนกว่าล้านาท นำไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

การจะตั้งเงื่นไขในการขอแบ่งปันผลประโยชน์ก็ต้องตั้งอย่างสมเหตุสมผลไม่ให้ เสียเปรียบต่างชาติ แต่ไม่ใช่ตั้งบนสมมติฐานที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เราเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า

หลายคนบอกว่าจะไปเป็นห่วงบริษัทขุดเจาะน้ำมันทำไมว่าเขาจะไม่กำไร ผมไม่ได้เป็นห่วงเรื่องนั้นหรอกครับ เพราะถ้าเขาเห็นว่าเงื่อนไขไม่ดีไม่คุ้มการลงทุน (เหมือนระบบ Thailand 2) เขาก็คงไม่มาลงทุน

แต่ผมเป็นห่วงว่าในอนาคตที่เราต้องนำเข้าพลังงาน 100% นี่สิ จะมีใครที่ออกมาโวยวายอยู่ตอนนี้ จะออกมาร่วมรับผิดชอบกันบ้างไหม !!!


มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา:
http://www.dailynews.co.th/article/825/191971

 

Go to top