แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

โคราชมีกี่อำเภอกันแน่ เป็นคำถามที่ถูกถามกันบ่อยๆ สำหรับจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ทีสุดของประเทศอย่างจังหวัดนครราชสีมา

หรือเมืองย่าโมของพสกเรานี่เอง โคราชมีกี่อำเภอ? ถ้าเป็นสมัยแอดมินยังเป็นเด็กๆ ก็จะตอบราวๆ 22-23 อำเภอนะ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป กิ่งอำเภอเล็กๆ ก็ได้ยกระดับเป็นอำเภอ ทำให้จำนวนมันเปลี่ยนแปลงไป ณ ตอนนี้ ปี 2559 เราลองมาเช็คชื่อกันดูสิว่า โคราชมีกี่อำเภอ

โคราช มีกี่อำเภอ

โคราชมีทั้งหมด 32 อำเภอ คร้าบ!

ถ้าเรียงลำดับตามตัวอักษรก็ไล่ได้ตามนี้ (นักเรียนคนไหนจะ copy ไปทำรายงานเชิญเลยนะจ๊ะ)
อำเภอแก้งสนามนาง
อำเภอขามทะเลสอ
อำเภอขามสะแกแสง
อำเภอคง
อำเภอครบุรี
อำเภอจักราช
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (จังหวัดนครราชสีมา)
อำเภอโชคชัย
อำเภอชุมพวง
อำเภอด่านขุนทด
อำเภอเทพารักษ์
อำเภอโนนไทย
อำเภอโนนสูง
อำเภอโนนแดง
อำเภอบัวลาย
อำเภอบัวใหญ่
อำเภอบ้านเหลื่อม
อำเภอประทาย
อำเภอปักธงชัย
อำเภอปากช่อง
อำเภอพระทองคำ
อำเภอพิมาย
อำเภอเมืองนครราชสีมา
อำเภอเมืองยาง
อำเภอลำทะเมนชัย
อำเภอวังน้ำเขียว
อำเภอเสิงสาง
อำเภอสีคิ้ว
อำเภอสีดา
อำเภอสูงเนิน
อำเภอหนองบุญมาก
อำเภอห้วยแถลง

รายละเอียดของอำเภอต่างๆ

1.อำเภอแก้งสนามนาง

เป็นอำเภอที่อยู่ทางด้านเหนือสุดของโคราชเลย ติดกับคอนสวรรค์ของชัยภูมิ มีประวัติที่มาดังนี้
คำว่า “แก้ง” เป็นภาษาท้องถิ่น ที่ใช้กันของอีสาน หมายถึง “แก่งหินกลางลำน้ำ” ชุมชนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอำเภอแก้งสนามนางในทุกวันนี้ มีความสำคัญในฐานะที่ในอดีต อาณาบริเวณนี้ใช้เป็นท่าสำหรับข้ามแม่น้ำชี เพื่อเดินทางไปติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนในเขตการปกครองเมืองชัยภูมิ กับผู้คนในเขตบัวใหญ่ (สมัยนั้น) ของเมืองโคราช ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อหรือไปมาหาสู่ ค้าขายหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ชุมชนที่เป็นท่าข้ามลำน้ำชีดำเนินความสำคัญเรื่อยมา จนมาถึงยุคที่มีรถไฟวิ่งมาถึงกลางภาคอีสาน

การนำสินค้าจากจังหวัดชัยภูมิเข้าสู่เมืองหลวง ก็จะลำเลียงข้ามแม่น้ำชีมาขึ้นรถไฟที่อำเภอบัวใหญ่ (ในปัจจุบัน) เพื่อส่งเข้ากรุงเทพฯ ต่อมา รัฐบาลเข้าไปพัฒนาสร้างถนนลูกรัง และ สร้างสะพานเหล็กข้ามลำน้ำชีให้เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อใช้ติดต่อกันระหว่าง จังหวัดชัยภูมิกับอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2480 และ ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากชัยภูมิสู่กรุงเทพฯ ด้วยโดยนำมาบรรทุกรถไฟที่สถานีรถไฟบัวใหญ่ จนถึงปี พ.ศ. 2513 ก็รื้อสะพานเหล็กสร้างใหม่เป็นสะพานคอนกรีตปัจจุบันถนนสายนี้กลายเป็นทางหลวงหมายเลข 202

ท่าที่ใช้ข้ามแม่น้ำนี้มักมีชื่อตามแก่งหินน้ำตื้นที่ขวางอยู่กลางลำน้ำในอาณาบริเวณชุมชนนั้น ดังเช่น ท่าข้าม “แก้งโก” (แก่งต้นตะโก) จึงเป็นข้อสังเกตให้เห็นว่า ที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแก่งทั้งสองนี้จะมีชื่อตามชื่อแก่งว่า หมู่บ้าน "แก้งขาม"และหมู่บ้าน "แก้งโก"

บ้านแก้งขามถือเป็นตลาดการค้าขนาดย่อมทีเดียว และยังเป็นตลาดรับซื้อปอจากฝั่งชัยภูมิเพื่อส่งไปบรรทุกรถไฟที่บัวใหญ่ด้วย ฉะนั้นจึงเป็นท่าข้ามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มาแต่อดีตและ ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ห่างจากตลาดแก้งขามเพียง 13 กิโลเมตร ยังมีชุมชนขนาดใหญ่ริมฝั่งน้ำชีอยู่อีกชุมชนหนึ่งที่มีความสำคัญ ในฐานะท่าข้ามที่สำคัญไม่แพ้กันมาแต่อดีต ที่นี่ คือที่ตั้งของ “บ้านแก้งสนามนาง” หมู่บ้านหรือชุมชนแห่งนี้เรียกขนานนามตามชื่อของแก่งหินเหมือนชุมชนอื่น ๆ แต่ด้วยเหตุที่เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กลางลำน้ำชีที่ยามหน้าแล้งน้ำลด สาว ๆ หนุ่ม ๆ มักพากันลงเล่นน้ำที่แก่งนี้เป็นที่สนุกสนาน จึงเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า “แก้งสนามนาง”

ปัจจุบันเกาะแก่งต่างๆ ที่กล่าวมา ไม่มีให้เห็นกันแล้ว เนื่องจากลำน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงและตื้นเขินในบางช่วง อำเภอแก้งสนามเดิมมีฐานะเป็นตำบลอยู่ในความปกครองของอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

 

อำเภอขามทะเลสอ

จากคำบอกเล่าต่อกันมานานว่า มีหมู่บ้านอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ปัจจุบันห่างจากที่ว่าการอำเภอขามทะเลสอ ออกไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร ชื่อว่า "บ้านขามทะเลสอ" หมู่บ้านดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งบึงแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งบึงแห่งนี้ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด และเมื่อน้ำในบึงแห้งสนิทดินในบึงจะเป็นสีขาว มีลักษณะคล้ายดินสอพลอง จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า "ดินสอ" หรือ "สอ" เมื่อน้ำในบึงแห้งลงไปถึงบริเวณไหน ดินบริเวณนั้นจะกลายเป็นสีขาวถึงที่นั้นจนเมื่อน้ำแห้งหมดบึง ก็จะแลเห็นสีขาวทั่วทั้งบึง มองดูกว้างไกลคล้ายทะเล ชาวบ้านจึงเรียกบึงนี้ว่า "บึงทะเลสอ" และต่อมาได้มีผู้เอาชื่อบ้านกับชื่อบึงมารวมกัน แล้วเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านขามทะเลสอ" ตราบจนทุกวันนี้

เดิมนั้นหมู่บ้านขามทะเลสอ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอโนนไทยเมื่อมีประชาชนมาอยู่รวมกันมากขึ้น ก็ได้ยกฐานะเป็นตำบลขามทะเลสอ

 

อำเภอขามสะแกแสง

อำเภอขามสะแกแสงอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือ 50 กิโลเมตร แอดมินเองนึกไม่ออกเลยว่าเคยไปอำเภอนี้มั้ย เพราะไม่มีถนนเส้นหลักวิ่งผ่าน

อำเภอคง

ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี 2490

 

อำเภอครบุรี

อำเภอครบุรี เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอกระโทก หรืออำเภอโชคชัยในปัจจุบัน โดยได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ในปีพุทธศักราช 2450 ซึ่งขณะนั้นมีเขตการปกครอง รวม 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแซะ ตำบลจระเข้หิน และตำบลสระตะเคียน เรียกว่า "กิ่งอำเภอแชะ" เนื่องจากที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ อยู่ในเขตหมู่บ้านแชะ ตำบลแชะ ต่อมาในปี พุทธศักราช 2482 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ และได้ชื่อว่า "อำเภอครบุรี" โดยรวมพื้นที่กิ่งอำเภอแชะเดิม กับตำบลครบุรีที่แยกมาจากกิ่งอำเภอสะแกราช เนื่องจากกิ่งอำเภอสะแกราชถูกยุบให้ไปรวมกับอำเภอปักธงชัย สำหรับคำว่า"แชะ"เป็นภาษาพื้นเมือง ส่วนภาษาไทยคือคำว่า "แฉะ" ซึ่งแปลว่า เปียก หรือชุ่มน้ำอยู่เสมอ จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านต่างๆ ได้รับการบอกเล่าว่าการที่ได้ชื่อว่า "บ้านแชะ" นั้นมาจากสภาพของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ต่ำและมีโคลนตมอยู่ทั่วไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า "บ้านแชะ" คำว่า "ครบุรี" กร่อนมาจากคำว่า สาครบุรี ซึ่งแปลว่า เมืองต้นน้ำ หรือเมืองสายน้ำ เพราะมีแควน้ำน้อยใหญ่หลายสาย จึงเรียกว่า "เมืองสาครบุรี" ต่อมาคำว่า "สา" กล่อนหายไปเหลือเพียงคำว่า "ครบุรี"มาตราบจนทุกวันนี้

 

อำเภอจักราช

ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี 2496

 

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (จังหวัดนครราชสีมา)

วันที่ 5 ธันวาคม 2539 แยกพื้นที่ตำบลช้างทอง ตำบลท่าช้าง ตำบลพระพุทธ ตำบลหนองงูเหลือม และตำบลหนองยาง อำเภอจักราช ไปตั้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตามโครงการจัดตั้ง อำเภอ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลวโรกาสจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม 2539
โดยย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่จะเป็นอำเภอจักราช พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของอำเภอเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบันนั้นเคยเป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอมาก่อน มีชื่อว่า กิ่งอำเภอท่าช้าง สถานที่ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเพ็ชรมาตุคลาในปัจจุบัน ครั้นเมื่อกิ่งอำเภอจะยกระดับเป็นอำเภอ จึงได้มองหาสถานที่ตั้งที่เหมาะสมอันจะประกอบไปด้วยสถานที่ตั้งของส่วนราชการต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งได้ที่ตั้งใหม่นั้นก็คือ สถานที่ตั้งที่เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอจักราชในปัจจุบัน

 

อำเภอโชคชัย

อำเภอนี้แอดมินไปบ่อย มีเรื่องเด่นคือเครื่องปั้นดินเผา และผัดหมี่กระโทก 55
ตามการสืบสวนถึงความเป็นมาที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือศิลปกร ปีที่ 1 เล่ม 4 พ.ศ. 2480 อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา ว่า อำเภอโชคชัยนี้ เดิมเป็นด่านที่มีกองคาราวานซึ่งมีเกวียนเป็นพาหนะ ที่เดินผ่านไปมาระหว่างประเทศไทยกับประเทศเขมรในสมัยโบราณ กล่าวคือ เมื่อเดินทางมาถึงที่บ้านด่านเกวียนที่จะพักแรมที่นี้เป็นด่านที่หนึ่ง แล้วก็จะเดินทางต่อมาพักที่ด่านกระโทกเป็นด่านที่สอง แล้วก็เดินทางต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงประเทศเขมรอยู่เป็นประจำ จึงเรียกด่านนี้ว่า "ด่านกระโทก"คำว่า"กระโทก"นี้ มีผู้สันนิษฐานว่า ในบริเวณนี้ มีป่าไม้ชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยต้นไม้ชื่อว่า "ต้นกระโทกโรก" มาก จึงได้ตั้งชื่อว่า "ด่านกระโทกโรก" ต่อมาคำนี้อาจจะไม่เหมาะสมหรือาจเรียกผิดเพี้ยนไป จึงเปลี่ยนมาเป็น "ด่านกระโทก"และตั้งชื่อว่า บ้านกระโทก มาจนถึงปันจจุบันนี้
เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพมาต่อสู้กับกองทัพของหมื่นเทพพิพิธ และได้รับชัยชนะ ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงจัดระเบียบการปกครองออกเป็นมณฑล ภาค จังหวัด และอำเภอได้ยกฐานะด่านกระโทก ขึ้นเป็นอำเภอกระโทก เมื่อ พ.ศ. 2449 จวบจนถึงปี 2488 ทางราชการ พิจารณาเห็นว่า คำว่า “กระโทก” มีสำเนียงและภาษาที่ไม่เหมาะสมและเพื่อให้เป็นไปตามความหมายเชิงประวัติศาสตร์ในอันที่จะให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความเป็นมาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ผู้ประกอบคุณงามความดี ให้กับประเทศชาติ และทำการรบได้ชัยชนะ ณ ที่แห่งนี้ (บริเวณบึงกระโทก และสนามหน้าเทศบาลตำบลโชคชัย )จึงได้เปลี่ยนนามอำเภอใหม่ว่า “อำเภอโชคชัย” มาตราบจนทุกวันนี้

 

อำเภอชุมพวง

อำเภอชุมพวง เดิมแยกออกมาจากอำเภอพิมาย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2499 และตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2502 อำเภอชุมพวงมีป่าสงวนเรียกว่า “ป่าดงชุมพวง” แต่เนื่องจากมีผู้บุกรุกเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการปฏิรูปเมื่อปี พ.ศ. 2515 พื้นที่อำเภอบางส่วนจึงอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และได้มีการแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรแล้ว
ตำบลชุมพวง แยกจากอำเภอพิมายเป็นกิ่งอำเภอชุมพวงเมื่อปี พ.ศ. 2499 และ ตั้งเป็นตำบลชุมพวงเมื่อปี พ.ศ. 2502 ตำบลชุมพวงมีต้น "พลวง" มากจึงเรียกว่า "ชุมพวง" และกลายมาเป็นชื่อตำบลในที่สุด ซึ่งตำบลชุมพวงมีลำน้ำมูลไหลผ่าน นับว่าเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา

 

อำเภอด่านขุนทด

เรื่องราวที่เป็นตำนานชาวด่านขุนทด ที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นลายลักษณ์อักษรในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ได้กล่าวถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตอนปราบชุมชนต่างๆและปรากฏในการปราบชุมนุมพระเจ้าพิมายโดยกล่าวไว้ว่า "ฝ่ายพระเจ้าพิมายได้ทราบข่าวศึก จึงแต่งตั้งให้พระยาวรวงศาธิราช(พระยาน้อย) ยกกองทัพลงมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ ด่านขุนทด ทางหนึ่ง และให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระยามนตรี กับทั้งมองญา ยกกองทัพมาตั้งค่ายรับอยู่บ้านจอหอทางหนึ่ง" และ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าตากสิน) จึงดำรัสให้ พระมหามนตรี และพระราชวรินทร์ ยกกองทัพไปตีทัพพระยาวรวงศาธิราชซึ่งตั้ง ณ ด่านขุนทด นั้น" จึงกล่าวได้ว่าด่านขุนทดมีกำเนิดมาก่อนรัชสมัยของพระเจ้าตากสินค่อนข้างแน่ชัด

อำเภอด่านขุนทด มีประวัติเท่าที่รวบรวมค้นหาหลักฐานได้ ในด้านตัวบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือสืบเชื้อสายปกครองดูแลด่านขุนทด คอยเก็บส่วยอากรไปยังแขวงสันเทียะ มีพระเสมารักษาเขตเป็นผู้ปกครองดูแลรักษาด่าน โดยมีที่ทำการอยู่ที่วัดโพธิ์ชุมพล (วัดโคกรักษ์) ต่อมาพระเสมารักษาเขตถึงแก่อนิจกรรมพระประเวชเข้มแข็ง บุตรชายได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

 

อำเภอเทพารักษ์

ตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมานี่เอง
อำเภอเทพารักษ์เดิมชื่อ "กิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ" ซึ่งนาม "สำนักตะคร้อ" นั้นได้มีการเล่าต่อๆ กันมาว่าเป็น"สำนัก"หรือ"ที่พักแรม"ของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา มีทั้งคนเดินทางพวกพรานป่าและขบวนเกวียนหาเก็บของป่า และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักแรม ซึ่งมีต้นตะคร้อใหญ่ขึ้นอยู่ริมห้วยมีบรรยากาศ ร่มรื่น ต่อมา มีผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เพื่อจับจองพื้นที่ทำไร่ และทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า "บ้านสำนักตะคร้อ"ขึ้นต่อตำบลพันชนะ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าพื้นที่ตำบลสำนักตะคร้อ ตำบลหนองแวงและตำบลบึงปรือ อยู่ห่างไกลจากอำเภอด่านขุนทด จึงเห็นควรจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้น เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ดังนั้นกระทรวงมหาดไทย จึงได้แยกพื้นที่ตำบลสำนักตะคร้อ ตำบลหนองแวง และตำบลบึงปรือ ของอำเภอด่านขุนทด จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ ขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

ต่อมาพระราชวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่อำเภอด่านขุนทด ได้เสนอแนะว่า เนื่องจากที่ตั้งของกิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ อยู่ใกล้กับอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ และ เชื่อว่าบริเวณที่ตั้งกิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ มีเทพารักษ์ปกปักษ์รักษาอยู่ จึงควรจะมีการขอเปลี่ยนชื่อ "กิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ"เป็น "กิ่งอำเภอเทพารักษ์" (ท้องที่กิ่งอำเภอเทพารักษ์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอด่านขุนทด)

นายถาวร กุลโชติ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ ในขณะนั้น จึงได้เสนอเรื่องการขอเปลี่ยนชื่อกิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ ไปยังกระทรวงมหาดไทย ต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงได้อนุมัติให้ เปลี่ยนชื่อ "กิ่งอำเภอสำนักตะคร้อ" เป็น "กิ่งอำเภอเทพารักษ์"

 

อำเภอโนนไทย

พ.ศ. 2375 อำเภอโนนไทย เดิมเรียกว่า “แขวงสันเทียะ” ทางราชการได้มีการปรับปรุงการปกครอง โดยตั้งเป็นด่านและแขวงขึ้น บ้านสันเทียะ ได้ยกขึ้นเป็นแขวงและตั้งด่านที่บ้านด่านจาก และบ้านด่านกรงกราง มีผู้ปกครองเรียกว่า “ขุนด่าน” (เทียบกำนัน) และ “หมื่นด่าน” (เทียบสารวัตรกำนัน) แขวงสันเทียะนี้ กินตลอดไปถึงตำบลสูงเนินทั้งหมด (ปัจจุบันคืออำเภอสูงเนิน) และด้านทิศตะวันตกติดต่อกับแขวงพันชนะ (ตำบลพันชนะ อำเภอด่านขุนทดในปัจจุบัน)
คำว่า “สันเทียะ” มีการสันนิษฐาน ว่ามาจาก 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 เล่ากันว่าเดิมเป็นที่อยู่ของชาวกัมพูชา ที่มาอาศัยต้มเกลือสินเธาว์เพื่อนำไปขายและอาศัยน้ำจากลำห้วยทางเหนือของหมู่บ้าน ในการหุงต้มเกลือและอุปโภคบริโภค ภาษาเขมร คำว่า “สันเทียะ” แปลว่า ที่ต้มเกลือสินเธาว์และยังมีผู้เพิ่มเติมว่า “สันเทียะ” อาจเอามาจากสภาพพื้นดินของอำเภอ เนื่องจากโดยทั่วไปพื้นดินเป็นดินเค็ม

ประเด็นที่ 2 มาจากสภาพภูมิศาสตร์ในภาษาลาว คำว่า “สันเทียะ” แปลว่า บ้านที่ตั้งอยู่บนสันโนนที่ดินเละ เนื่องจากพื้นดินเป็นดินปนทรายเมื่อถึงฤดูฝนจะชื้นแฉะไปทั่วทั้งหมู่บ้าน

ประเด็นที่ 3 สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ศาลเตี้ย”เพราะแขวงสันเทียะ เดิมมีเรือนจำสำหรับนักโทษและมีการชำระคดีที่แขวงนี้ ดังนั้นคำว่าศาลเตี้ย จึงน่าจะเพี้ยน มาเป็น สันเทียะ

 

อำเภอโนนสูง

เป็นอำเภอที่มีประวัติยาวนานมาก ทั้งยังอยู่ในเส้นทางของโบราณสถานหลายแห่งด้วย
อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เดิมชื่อ อำเภอกลาง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอโนนวัด และอำเภอโนนสูงตามลำดับ เป็นอำเภอที่เป็นทางสัญจรสำคัญอำเภอหนึ่ง มีทั้งถนนมิตรภาพ ทางรถไฟ แม่น้ำมูล และแม่น้ำลำเชิงไกรไหลผ่าน และมีพื้นที่ติดกับอำเภอเมืองนครราชสีมา ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นชาวไทยโคราช จะมีชาวไทยอีสานบ้างเล็กน้อย และมีชาวไทยเชื้อสายจีนบ้างในตัวอำเภอ ชาวอำเภอโนนสูงส่วนใหญ่จะมีนามสกุลลงท้ายด้วยคำว่า "กลาง" ซึ่งเป็นชื่อเดิมของอำเภอ เช่นเดียวกับอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ที่นิยมลงท้ายนามสกุลด้วยชื่ออำเภอ

 

อำเภอโนนแดง

อำเภอโนนแดง แต่เดิมเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2480 เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งขึ้นโดยเรียกชื่อตามชื่อของไม้แดง ซึ่งมีอยู่มากในขณะนั้น อยู่ในเขตการปกครองของตำบลโนนตาเถร อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาชุมชนโนนแดงได้ขยายใหญ่ขึ้น จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็น ตำบลโนนแดง เมื่อปี พ.ศ. 2508 และ เมื่อชุมชนมีความเจริญเติบโต เข้าหลักเกณฑ์ที่จะจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอได้แล้ว จังหวัดนครราชสีมา จึงได้เสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอโนนแดง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532

 

อำเภอบัวลาย

หมู่บ้านหนองบัวลาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2469 เดิมขึ้นกับตำบลบัวใหญ่ แยกมาตั้งเป็นตำบลบัวลาย เมื่อปี พ.ศ. 2486 สาเหตุที่เรียกว่า “หนองบัวลาย” เพราะในบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำที่มีบัวมากมาย ซึ่งคำว่า “บัวมากมาย” ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “บัวหลาย” ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น “บัวลาย” จึงเรียกว่า “หนองบัวลาย” จนมาปัจจุบันต่อมาได้ตัดคำว่า “หนอง” ออกเหลือเพียง “บัวลาย” จึงเรียกว่า “ตำบลบัวลาย” แต่นั้นมาในส่วนชื่อหมู่บ้านยังคงเรียก “หนองบัวลาย” เช่นเดิม กำนันตำบลบัวลายคนแรกชื่อนายทวง แทบทาม ต่อมาอีก 4 คนคือนายโสม แสงสว่าง, นายคำ ทินราช, นายจิตร์ นาราษฎร์และนายอนุวัฒน์ ทินราช ตามลำดับ

สำหรับบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้านโดยนำครอบครัวและญาติพี่น้องเข้ามาวางรกรากมีดังนี้

1. นายขอด การปลูก
2. นายชาลี โพธิ์พล
3. นางเจ็ก – นายเพชร ด่านกลาง
4. นายเอี่ยม ฮมพิรมย์
5. นายทุย ไพราม

เมื่อความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำนาทำไร่ และด้วยความเจริญของท้องถิ่นเพราะลำห้วยยางและลำห้วยขี้หนูไหลผ่านผู้คนก็หลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น

เมื่อหมู่บ้านเป็นปึกแผ่น จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงมีการแบ่งแยกการปกครองตำบลออกจากตำบลบัวใหญ่มาเป็นตำบลบัวลาย มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้น คือบ้านหนองบัวลาย บ้านหนองแสง บ้านขามป้อม บ้านโนนดู่ บ้านโนนจาน บ้านหนองคอม บ้านหลุบกุง บ้านเหลิงหิน บ้านห้วยม่วง บ้านศาลาดิน บ้านสระน้ำเที่ยง บ้านหนองเรือ บ้านป่าหวาย บ้านเพ็ดน้อย บ้านแดงน้อย บ้านฝาผนัง บ้านหนองแวง บ้านคึมมะอุ บ้านหนองจาน บ้านหนองตาดน้อย

การก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านหมู่บ้านหนองบัวลาย พอดี มีการเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2477 รถไฟสมัยนั้น เป็นเครื่องจักรไอน้ำ ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง หาได้จากโคกสาธารณะตามเส้นทางจากหนองบัวลายไปบ้านศาลาดิน เป็นโคก ที่มีต้นไม้มาก เนื้อที่ ประมาณ 1,000 ไร่

 

อำเภอบัวใหญ่

พื้นที่อำเภอบัวใหญ่เดิม มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน จากหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบกระจัดกระจายอยู่ในเขตพื้นที่เป็นจำนวนมาก อาทิ บ่อไก่แก้วปรางค์ บ้านสีดา ที่อำเภอสีดา ปราสาทนางรำ ที่อำเภอประทาย ปรางค์กู่ที่บ้านกู่ ต.ดอนตะหนิน เครื่องภาชนะดินเผาพบที่บริเวณบ้านบัวใหญ่ กำไรสำลิดและไหหินพบที่บริเวณบ้านจาน เสมาหินทรายที่บ้านเสมาใหญ่ เทวรูปสำริดที่ขุดพบจากพื้นที่หลายแห่ง ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก ฝังเรียงรายทับซ้อนลงไปเป็นชั้น ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเคยขุดพบที่บ้านหนองไอ้แหนบ บ้านหญ้าคา และหลังสุดขุดพบไหหรือหม้อดินเผาที่บรรจุกระดูกเป็นจำนวนมากที่เนินดินท้ายหมู่บ้านกระเบื้อง เมื่อ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีภาชนะบรรจุกระดูกนับพันไห เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการขาดของทางราชการ ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าน่าจะมีอายุราว 1,500 ปี เป็นประเพณีฝังศพครั้งที่สอง โดยครั้งแรกจะนำศพไปฝังก่อน ภายหลังจะทำการขุดศพมาทำพิธีกรรมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำโครงกระดูกบรรจุลงหม้อดินเผาฝังบรรจุในสุสาน หลักฐานทั้งหลายเหล่านี้ทำให้น่าเชื่อว่าพื้นที่อำเภอบัวใหญ่เป็นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุไม่น้อยกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้คือแหล่งความรู้ที่ทำให้ประชาชนอำเภอบัวใหญ่ในปัจจุบันสืบสานรับวัฒนธรรมเหล่านั้น มาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีถ่ายทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ในยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ. 2390 ในสมัยพระกำแหงสงคราม(แก้ว) เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ตั้งด่านเพื่อระวังศัตรูตรวจตรารักษาความสงบ และทำหน้าที่เก็บส่วยสาอากร (ภาษี) มีด่านทองหลาง ด่านชวน ด่านจาก ด่านกระโทก ด่านขุนทด โดยเฉพาะ “ด่านนอก” เป็นด่านนอกสุดของเมืองนครราชสีมา เพื่อดูแลเขตชายเมือง “ด่านนอก” ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่อยู่ในเขตพระราชอาณาจักร ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ ถัดขึ้นไปทางเหนือนั้นถือเป็นเมืองประเทศราชขึ้นต่อแขวงนครเวียงจันทร์

ที่ทำการของ “ด่านนอก” ตั้งอยู่ที่บ้านทองหลางใหญ่ บนเนินดินริมห้วยกระเบื้อง หลักด่านด้านเหนือสุดของด่านนอก อยู่ที่ริมห้วยเอก ที่หมู่บ้านหลักด่าน

 

อำเภอบ้านเหลื่อม

ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี 2531

 

อำเภอประทาย

ประทาย เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา เดิมมีฐานะเป็นตำบลประทายขึ้นกับเขตการปกครองอำเภอบัวใหญ่(เดิมนอกชื่ออำเภอ นอก) ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอประทาย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2504 และได้ยกฐานะเป็นอำเภอในปี 2506 ชื่ออำเภอประทาย ใช้ชื่อตามตำบลประทาย มีหมู่บ้านประทายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่สมัยขอมเรืองอำนาจ ซึ่งได้แก่บ้านประทาย หมู่ที่ 2 ตำบลตลาดไทรในปัจจุบัน ซึ่งได้แยกจากตำบลประทาย คำว่า "ประทาย" เป็นภาษาเขมร แปลว่า "ป้อมค่ายหรือที่พักแรม" เข้าใจว่าเป็นทางผ่าน และที่พักแรมของทหารขอมในการไปสักการะปราสาทหินพิมาย

 

อำเภอปักธงชัย

สมัยโบราณ เดิมปักธงชัยเป็นเมืองโบราณตั้งแต่ขอมเรืองอำนาจ ทั้งนี้สันนิษฐานได้จากเขตอำเภอปักธงชัยมีซากปรักหักพังของปรางค์ หรือ เทวาลัยหลายแห่งที่เป็นศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่ขอมนิยมสร้างตามเมืองต่างๆ ที่ตนปกครองอยู่ใหญ่บ้าง เล็กบ้างตามความสำคัญของแต่ละเมือง เช่น ปรางค์นาแค ปราสาทสระหิน ปรางค์บ้านปรางค์ ปรางค์กู่เกษม

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานที่ปรากฏตามแผนที่ยุทธศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฏชื่อ เมืองปักว่าตั้งอยู่ใกล้เมืองนครราชสีมา ความสำคัญก็คือ เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นกองระวังหน้าคอยสอดแนมข้าศึกและคอยปะทะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ข้าศึกยกทัพประชิดเมืองนครราชสีมาเร็วเกินไป เมืองปักในสมัยนี้จึงถูกตั้งและเรียกว่า “ด่านจะโปะ” เช่นเดียวกับ ด่านเกวียน ด่านจอหอ ด่านขุนทด เป็นต้น

ในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2321 ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ยกกองทัพไปปราบเมืองเวียงจันทน์และได้รับชัยชนะขากลับ จึงได้กวาดต้อนเชลยชายหญิงพร้อมกับเพี้ยอุปราช และ ให้ไปพักอาศัยอยู่ที่ด่านจะโปะครั้นชาวเมืองเวียงจันทน์ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) จึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งด่านจะโปะเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองปัก” (ยังไม่มีคำว่าธงชัย) และได้กราบบังคมทูลขอให้เพี้ยอุปราชเป็นเจ้าเมืองปักคนแรก พระราชทานนามว่า “พระยาวงศาอรรคราช” (ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นต้นตระกูลวรธงไชย ขณะนี้) เมืองปักในสมัยนี้เป็นเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2323

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมาและได้กวาดต้อนชาวเมืองไป แต่ถูกคุณหญิงโมและชาวเมืองนครราชสีมาต่อสู้กับทหารเวียงจันทน์จนได้รับชัยชนะและได้พระราชทานนามว่า “ ท้าวสุรนารี ” การกวาดต้อนเชลยคราวนั้น ทหารเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้มากวาดต้อนชาวเมืองปักทั้งชาวไทยโคราช และ ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งชาวเวียงจันทร์ได้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ต่างก็มีที่ทำมาหากินสุขสบายมาเป็นเวลา 47 ปี จึงพร้อมใจกันจับอาวุธต่อสู้ขับไล่ทหารของเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้กลับไป (ปัจจุบันชาวเวียงจันทน์เป็นบรรพบุรุษ ของชาวตำบลตะคุทั้งตำบล ตำบลเมืองปักบางหมู่บ้าน ตำบลธงชัยเหนือบางหมู่บ้าน ตำบลบลสะแกราชบางหมู่บ้าน ตำบลตะขบบางหมู่บ้าน)

 

อำเภอปากช่อง

เมื่อ พุทธศักราช 2430 ชาวบ้านปากช่องขึ้นกับ ต.ขนงพระ อ.จันทึก ต่อมาปีพ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้ก่อสร้างทางรถไฟสายแรก กรุงเทพฯ -โคราช สร้างทางผ่านกลางหมู่บ้าน จำเป็นต้องระเบิดภูเขาเพื่อวางทางรถไฟ จึงทำให้หมู่บ้านถูกระเบิดหินทำทางรถไฟเป็นช่อง จึงเรียกว่า "บ้านปากช่อง"

 

อำเภอพระทองคำ

วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ได้แยกพื้นที่ตำบลสระพระ ตำบลมาบกราด ตำบลพังเทียม ตำบลทัพรั้ง และตำบลหนองหอย มาตั้งเป็นกิ่งอำเภอพระทองคำ ขึ้นกับอำเภอโนนไทย พร้อมกับโอนสุขาภิบาลปะคำ มาขึ้นกับกิ่งอำเภอพระทองคำ อีกด้วย และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี 2550

 

อำเภอพิมาย

เมืองพิมายมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโคตรบูรณ์ของขอม สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมผู้ปกครองมีกรมการเมือง ปลัดเมือง ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ชั้นพระ หลวง ขุน มาเป็นผู้ปกครองอำเภอพิมาย เดิมชื่อ "อำเภอเมืองพิมาย" มีฐานะเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2443 โดยมีขุนขจิตสารกรรม ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2454 สมเด็จพระศรีพัชรินทร์พระบรมราชินีนาถในรัชการที่ 5 (สมเด็จพระพันปีหลวง) ได้เสด็จประพาสเมืองพิมายและได้เสด็จทรงพักผ่อนที่ไทรงามด้วย คณะกรมการเมืองได้จัดรับเสด็จ โดยจัดสถานที่ประทับข้างลำน้ำตลาด (บริเวณติดลำน้ำด้านทิศใต้ของโรงเรียนพิมายวิทยาในปัจจุบัน) ซึ่งเรียกชื่อสถานที่ในขณะนั้นว่า "วังเก่า" ในปี พ.ศ. 2457 ได้สร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมาย (บริเวณที่จอดรถหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมายในปัจจุบัน) ผู้ปกครองมีคณะกรรมการเมือง นายอำเภอ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ชั้น หลวง ขุน หม่อมเจ้า ดำรงตำแหน่ง และกำนันประจำตำบลจะมีบรรดาศักดิ์ชั้น ขุน หมื่น มาดำรงตำแหน่ง

 

อำเภอเมืองนครราชสีมา

อำเภอเมืองนครราชสีมามีชื่อเรียกตามความถนัดของชาวพื้นเมืองว่า "โคราช" เรียกตามภาษาราชการว่า "เมืองนครราชสีมา" เหตุที่เรียก 2 ชื่อ ด้วยปรากฏว่าตามหลักฐานโบราณคดีเรื่องงานข้างต้นวินิจฉัยชื่อเมืองนครราชสีมาว่า ก่อนที่จะสร้างขึ้นในสถานที่ปัจจุบัน เดิมมีเมืองโบราณอยู่ 2 เมือง ซึ่งอยู่ทางขวาของลำตะคอง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน เมืองที่หนึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำตะคองมีชื่อเรียกว่า เมืองโคราช จากหลักฐานที่ได้สำรวจพบว่าในบริเวณเมืองทั้งสอง เมืองเสมาสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ต่อมาได้ข้ามมาสร้างเมืองโคราชขึ้นอีกเป็นเมืองใหม่ ทิ้งเมืองเสมาให้เป็นเมืองร้างในที่สุด

ชื่อเมืองโคราช น่าจะเพี้ยนมาจากชื่อเมือง "นครราช" ในภาษาเขมร และไม่น่านำมาจากชื่อเมือง "โคราฆะปุระ" ในมัชฌิมประเทศ เนื่องจากเมืองโคราฆะปุระเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในอินเดีย ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีอายุน้อยกว่าอารยธรรมขอม-ทวาราวดีของเมืองเสมามาก

ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงย้ายเมืองโคราชและเมืองเสมามาสร้างในที่ตั้งปัจจุบัน และตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองนครราชสีมา เมืองที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นเมืองหน้าด่าน มีคูล้อมรอบและมีประตูเมือง 4 ประตู

 

อำเภอเมืองยาง

ในอดีต อำเภอเมืองยาง เคยเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ตามโคกเนิน จะปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี เช่นการพบเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในใจกลางเมืองบ้านเมืองยาง และบ้านกระเบื้องนอก พบเศษกระเบื้องเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากในเขตชั้นดินลึกเพียงแค่ 1 เมตร ซึ่งตามรายงานการขุดค้นพบของกรมศิลปากร พบว่าเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า อายุประมาณ 3,500 ปี ก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคต่อมายังพบเศษซากกู่ปราสาทขนาดเล็กตามเนินเล็กๆที่บ้านเมืองยาง บ้านนางออ นอกจากนี้ที่ตั้งหมู่บ้านเมืองยาง บ้านเมืองเก่า ในปัจจุบันยังมีลักษณะเป็นคูน้ำวงล้อมรอบชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มาแต่อดีต

 

อำเภอลำทะเมนชัย

วันที่ 8 กันยายน 2550 ยกฐานะเป็นอำเภอลำทะเมนชัย

 

อำเภอวังน้ำเขียว

วังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา รู้จักกันอย่างดีในฐานะเป็นสถานที่ที่มีโอโซนติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก จนมีสมญานามว่า "สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน" ที่นี่รีสอร์ทเพียบ และกำลังถูกตรวจสอบหลายที่เลยล่ะเรื่องการรุกล้ำเขตป่าสงวน

 

อำเภอเสิงสาง

วันที่ 26 มีนาคม 2522 ยกฐานะเป็น อำเภอเสิงสาง

 

อำเภอสีคิ้ว

อำเภอสีคิ้ว เป็นเมืองหน้าด่านในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นถิ่นที่อยู่ ของไทยที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ของประเทศไทย เดิม อ.สีคิ้ว ชื่อว่า "เมืองนครจันทึก" เป็นเมืองอิสระเมืองหนึ่ง ขึ้นตรงต่อเมืองหลวง ต่อมาเมืองนครราชสีมาตั้งขึ้นแล้ว เห็นว่าเมืองนี้อยู่ในป่าดงทึบ ไข้ป่าชุกชุม และไม่สะดวกแก่การติดต่อเมืองหลวง จึงเปลี่ยนเป็นเมืองหน้าด่านเรียกว่า "ด่านจันทึก" ที่ตั้งด่านอยู่ ณ บ้านจันทึก ม. 3 ต.จันทึก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟจันทึก นายด่านคนแรกชื่อ หลวงพล นายด่านคนที่ 2 ชื่อหมื่นด่าน (จัน) เมื่อเลิกด่านแล้ว จึงเปลี่ยนเป็นอำเภอเรียกว่า "อำเภอ" เมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) ต่อมา เมื่อ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ในสมัยที่หลวงเทพโอสถ ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการ อ.สีคิ้ว จากบ้านจันทึกมาตั้ง ณ บ้านหนองบัว ม. 1 ต.ลาดบัวขาว ใน พ.ศ. 2449 ขณะที่หลวงแผลงฤทธา ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านหนองบัว มาตั้ง ณ บ้านสีคิ้ว ม. 2 อ.สีคิ้ว สาเหตุที่ต้องย้ายที่ว่าการอำเภอสีคิ้วบ่อย ๆ นั้น เนื่องจากบ้านจันทึก และบ้านหนองบัวตั้งอยู่ในเขตดงพญาเย็น (พญาไฟ) มีไข้ป่า (มาลาเรีย) ชุกชุมเป็นที่เกรงกลัวของข้าราชการยิ่งนัก จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสีคิ้ว ซึ่งอยู่นอกเขตดงพญาเย็นดังกล่าวแล้ว เมื่อ อ.จันทึก ย้ายมาอยู่ที่บ้านสีคิ้ว ปรากฏว่าประชาชนที่มาติดต่อราชการ มักเข้าใจ ขึ้นรถไฟไปลงที่สถานีจันทึกบ่อย ๆ ทางราชการ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ อ.จันทึก เป็น อ.สีคิ้ว เมื่อ วันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2482 ในสมัยที่นายชำนาญ กระบวน ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเพื่อให้ตรงกับ ชื่อสถานีรถไฟและชื่อหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ

 

อำเภอสีดา

วันที่ 8 กันยายน 2550 ยกฐานะเป็น อำเภอสีดา

 

อำเภอสูงเนิน

เป็นอำเภอที่ขับรถผ่านบ่อยๆ เพราะไม่ว่าจะเข้า กทม. หรือ จะไปโซนไหนๆก็ผ่าน ขึ้นชื่อเรื่องด่านตรวจทางหลวงที่เข้มงวด
วันที่ 28 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะเป็น อำเภอขามทะเลสอ

 

อำเภอหนองบุญมาก

อำเภอหนองบุนนากแต่เดิมเป็นเพียงตำบลเดียว คือ ตำบลสารภี ซึ่งอยู่ในเขตปกครอง ของอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งท้องที่ตำบลสารภี ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า “กิ่งอำเภอหนองบุนนาก” โดยมีนายสวัสดิ์ พูนพิพัฒน์ เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ตัวที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านซับหวาย หมู่ที่ 16 ตำบลหนองบุนนาก ในขณะนั้น (ปัจจุบันบ้านซับหวายเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นหมู่ที่ 4 ตำบลหนองหัวแรต)ในการก่อสร้างศูนย์ราชการอำเภอ นางเง็กเจ็ง และนายประสงค์ ศรีหิรัญรัตน์ เป็นผู้อุทิศที่ดินให้เนื้อที่ 100 ไร่ เพื่อจัดสร้างที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจภูธรอำเภอและหน่วยราชการต่าง ๆ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532 กิ่งอำเภอหนองบุนนากได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 106 ตอนที่ 83 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 โดยมี ร.ต. ประสิทธิ์ อินทราทิตย์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 ดำเนินการเปิดอาคารที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ท่านได้มีจิตศรัทธาและตั้งใจที่จะบริจาคเงินให้ก่อสร้างเป็นเงินงบประมาณ 13,793,000 บาท (สิบสามล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นสามพันบาทถ้วน) โดยไม่ใช้เงินงบประมาณของทางราชการ และหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้บริจาคเงินในการก่อสร้างเองทั้งสิ้น โดยทางทางจังหวัดนครราชสีมาโดยขออนุมัติกรมการปกครอง เป็นอาคารสองชั้นทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ซึ่งจะเป็นอาคารที่ว่าการอำเภอหลังแรกของประเทศไทย ที่ก่อสร้างโดยพระบริจาคเงินเป็นอาคารหลังแรก ที่เป็นอาคารทรงไทยสวยเด่นเป็นสง่าที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้มีความหมายในทางที่เป็นสิริมงคลตามความต้องการของราษฎรและหลวงพ่อคูณ เห็นสมควรเปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมควรเปลี่ยนชื่ออำเภอหนองบุนนากเป็นอำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา

 

อำเภอห้วยแถลง

อำเภอห้วยแถลง ได้ชื่อของลำห้วยเป็นชื่อของอำเภอ โดยมีต้นกำเนิดจากทางน้ำฝนไหลจากสันเขาอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ตั้งอำเภอ มีลำห้วย 4 สาย คือ ลำห้วยสระมะค่า ลำห้วยเหวห้า ลำห้วยหยะหยาย และลำห้วยกะเพรา ไหลมารวมกันระหว่าง บ้านโนนสำราญ หมู่ที่ 9 ตำบลเมืองพลับ-พลา ซึ่งสมัยโบราณเรียกว่า “ลำห้วยกะเพรา” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ลำห้วยแถลง” คำว่า “แถลง”สันนิษฐานมาจากคำว่า “แถล” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นอิสาน แปลว่า ลาดเอียง เช่น แถล+ขึ้น หมายถึง ลาดขึ้น แถล +ลง หมายถึง ลาดลง เป็นต้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้สร้างทางรถไฟสายอุบลราชธานี ผ่านตำบลหินดาด ตำบลงิ้ว อำเภอพิมาย พลเมืองต่างถิ่น ได้เดินทางอพยพตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพโดยอาศัยลำน้ำ จากลำห้วยแถลง บริโภคและใช้สอย จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ ห้วยแถลง ” ขึ้นอยู่ในการปกครองของตำบลงิ้ว อำเภอพิมาย

Go to top