พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะมีความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบภายในพื้นที่ จนกระทั่งทำให้เกิดความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินมากมาย รวมไปถึงภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดที่เกิดปัญหาความไม่สงบขึ้นมา แต่ละครั้งมักเป็นภาพความรุนแรงที่มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ข่าวสารต่างๆ ที่นำเสนอออกมาจากพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ ทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ล้วนแต่เป็นภาพของความรุนแรงที่มีการสูญเสีย กลายเป็นภาพเชิงลบที่ทำให้คนพื้นที่เองก็หวาดกลัว หรือจะเป็นคนนอกพื้นที่ เมื่อได้รับข่าวสารเช่นนี้แล้ว ย่อมมีทัศนคติในมิติที่ตอกย้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
เป็นเวลานานนับสิบปีที่เราเคยเดินทางเข้าไปสัมผัสใน พื้นที่สามชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังเป็นภาพความทรงจำและทัศนคติที่ดี โลกของความงดงามด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม ยังสวยงาม และยังคงเป็นอยู่ทุกวันนี้ แม้ว่าความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา คนในจังหวัดแห่งนี้ก็ยังมีไมตรีจิต และมิตรภาพความสวยงาม รอยยิ้มแห่งความจริงใจยังมีอยู่เสมอ
ในโอกาสที่ผ่านมาไม่นานมานี้ เราได้ลงพื้นที่ จังหวัดปัตตานี อีกครั้ง พร้อมกับลงไปในพื้นที่ที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายหลายอำเภอ เพื่อไปค้นหาเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างที่ยังคงเป็นแก่นแท้ของประชาชนใน พื้นที่ และเป็นการเข้าถึงที่สามารถสัมผัสด้วยความจริงใจ เราจึงได้พบเห็นรอยยิ้มบนความรุนแรง เป็นมิติอีกด้านหนึ่งที่สามารถผ่อนคลายภาพเชิงลบและความรุนแรงลงไปได้บ้าง แต่เราก็เชื่อว่า ในรากลึกที่เป็นอยู่ ชาวปัตตานีต้องการความสงบสุขกลับคืนมาสู่แผ่นดินนี้อีกครั้ง
ย่างก้าวแรกที่เดินทางสู่เมืองปัตตานี เราจะเห็นการดำเนินชีวิตที่ปกติสุข อาจพบเห็นทหารเฝ้าระวังพื้นที่บางจุดเท่านั้น ในย่านตัวเมืองบางพื้นที่มีการกำหนดให้เปิดเบาะรถมอเตอร์ไซค์เพื่อป้องการ การซุกซ่อนระเบิด หรือหน้าร้านค้าบางร้านจะมีแท่งปูนมาวางเรียงกันตามแนวฟุตบาท เพื่อเป็นแนวป้องกันระเบิด ก็เป็นวิธีปรับสภาพความเป็นอยู่ หรือดูแลทรัพย์สินของตัวเอง
ที่มัสยิดกลางปัตตานี จะเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมที่มาประกอบพิธีทางศาสนา หรือมาฟังธรรม พร้อมกับการมาจับจ่ายซื้อของที่ตลาดเทศบาลจะบังติกอ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากมัสยิดกลางมากนัก ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมการค้าขายอาหารสด อาหารแห้ง พืชผัก ผลไม้ ที่ใช้ในการบริโภคประจำวันที่มีผู้คนไทยพุทธ ไทยมุสลิม มาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างต่อเนื่อง จะมีวันจันทร์ วันพฤหัสบดี และเสาร์
ตลาดแห่งชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวด้วยการค้าขาย ซึ่งเป็นข้าวของเครื่องบริโภคอุปโภคในชีวิตประจำวัน เริ่มนับจากย่างก้าวเข้าสู่ตลาดก็จะพบตลาดผลไม้ จำพวกลองกอง มังคุด กล้วย จำปาดะ กล้วยหิน ที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาลในท้องถิ่น ตลาดจะถูกแบ่งไว้เป็นสัดส่วนทั้งในตัวอาคารใหญ่ และรายรอบอาคารที่เห็นจำพวกแผงลอย ภาพชีวิตที่ขับเคลื่อนในตลาดจะพบเห็นเรื่องราวในกลุ่มอาชีพต่างๆ กลุ่มประเภทสินค้า กลุ่มผู้จับจ่ายซื้อของที่มีการหมุนเวียนไม่ขาดระยะ อันแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาจมีเม็ดเงินไหลเวียนวันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท
การลงพื้นที่ปัตตานี มีการบอกให้เลือกเดินทางตามเส้นทางหลักๆ และเป็นช่วงเวลากลางวัน ที่เราได้กำหนดเส้นทางไปถึง อ.สายบุรี ซึ่งจะผ่านเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุด พร้อมกับได้เห็นภาพวิถีการดำรงอยู่ของผู้คนชาวไทยมุสลิมที่ได้ประกอบอาชีพทำ มาค้าขาย หรือการทำประมงพื้นบ้าน ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน
จากตัวเมืองปัตตานีไปตามเส้นทางสายปัตตานี-นราธิวาส จะผ่าน มัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ และช่วงที่ผ่านมาไม่นานนักก็เกิดเหตุความรุนแรงที่ทำให้เกิดเป็นความสูญเสีย ที่ต้องจดจำกันอีกนาน และในบริเวณใกล้เคียงก็มีฮวงซุ้ย หรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอยู่ด้วย
ครั้นผ่านมาทาง อ.ยะหริ่ง ก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวคือ หาดตะโละกาโปร์ ซึ่งปัจจุบันก็ดูเงียบเหงา มีสภาพทรุดโทรม เพราะไม่ได้รับการดูแล ไม่มีนักท่องที่ยวมาเที่ยวพักผ่อนมากนัก และทางด้านปลายหาดตอนใต้จะเป็นเขตหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ที่มีการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง โดยการใช้เรือกอและ คือ บ้านตาปา เป็นกลุ่มเรือจับปูม้า และกลุ่มเรือจับกุ้งแชบ๊วย ในแต่ละวันชาวบ้านออกทะเลไปตั้งแต่เช้ามืด และจะกลับขึ้นฝั่งมาในช่วงเที่ยงหรือบ่าย แต่ละวันก็จับสัตว์น้ำมาได้อย่างพอเพียง แต่ถ้าวันไหนสภาพอากาศไม่ดีก็แทบไม่ได้อะไรเลย หรือบางวันก็ออกทะเลไม่ได้
นี่ก็คือภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือกอและในการ ออกทะเลหาปูปลา แต่อีกส่วนหนึ่งของ อ.ยะหริ่ง เราจะได้เห็นการประกอบอาชีพพื้นบ้าน คือ การทำน้ำตาลแว่น ตั้งอยู่ในชุมชนเล็กๆ ของบ้านตาแกะ โดยนำเอาน้ำตาลโตนดมาเคี่ยวข้นจนมีรสหอมหวาน แล้วนำมาแปรรูปเป็นน้ำแว่น ด้วยกรรมวิธีพื้นบ้าน เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนจากผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ
ถัดจากอ.ยะหริ่ง ลงไปถึงพื้นที่ อ.สายบุรี เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่มีพื้นที่ติดชายทะเล จึงได้เห็นภาพของการดำรงชีพที่เกี่ยวข้องและผูกพันกับทะเล ชุมชนบาตาบาระมีกลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับการพัฒนา อาชีพทั้งในด้านเศรษฐกิจชุมชนและศาสนา ได้มีการตั้ง “โรงงานกรือโปะ” หรือ ข้าวเกรียบสด เพื่อจำหน่ายสู่ท้องตลาด
ที่โรงงานเล็กๆ แห่งนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน โดยชุมชนเป็นเจ้าของจริง สร้างงานให้ชุมชน กำไรและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนำกลับคืนสู่สังคมสู่ชุมชน สามารถสร้างมัสยิด ตาดีกา มีทุนการศึกษาให้เด็กปีละจำนวนมาก และเป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เน้นการจ้างงานคนในหมู่บ้านเป็นหลัก ลดการเคลื่อนย้ายคนในชุมชนไปทำงานในมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งควรที่อยู่กับบ้านหรือครอบครัว มากกว่าจะออกไปทำงานในต่างแดน
การทำกรือโปะ หรือข้าวเกรียบสด ทำจากปลาสด นำมาบดผสมแป้งและปรุงรส ปั้นเป็นเส้น แล้วนำมาลวกในน้ำร้อนที่เดือดจัดเพื่อให้สุก ยกขึ้นผึ่งให้แห้ง แล้วจึงทาน้ำมันพืชเพื่อให้เก็บรักษาได้นานๆ จากนั้นนำไปทอดรับประทานเป็นอาหารหลัก หรือของว่างได้เลย ซึ่งเราจะเห็นตามท้องตลาด ในตัวเมือง หรือร้านน้ำชาบางแห่งจะมีเมนูอาหารเป็นกรือโปะอยู่ด้วย
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเมืองปัตตานีในหนนี้ สามารถออกไปในพื้นที่ต่างๆ ได้แทบทุกแห่ง แต่ต้องกลับมาพักในตัวเมือง ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ที่พักบางแห่งเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ที่เข้ามาพัก
ในยามค่ำคืนของเมืองปัตตานี จะมีบรรยากาศที่คึกคักในช่วงหัวค่ำ โดยเฉพาะในย่านเขตรอบ ม.อ.เป็นพื้นที่จัดว่าปลอดภัยที่สุด เพราะเป็นเขตพื้นที่การศึกษา จึงมีนักศึกษาไปใช้บริการ จึงมีร้านน้ำชา ร้านอาหารมากเป็นพิเศษ หากใครจะไปกินชาชักรสชาติเด็ดๆ เข้มข้น ก็หาได้ที่โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี
ปัตตานีดินแดนด้ามขวานของประเทศที่เรายังพบเห็นภาพลักษณ์ความงดงามด้านวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องราวของชุมชน ที่เปี่ยมด้วยความสงบสุข ภาพรอยยิ้มที่เกิดขึ้นคงถือว่าเป็นมิติจากหัวใจของชาวปัตตานีแท้ๆ ที่ยังคงต้องการความสงบสุข และเขาต้องการสื่อสารภาพความเป็นจริงให้โลกภายนอกได้รับรู้ว่าดินแดนลังกาสุ กะ ที่เจริญรุ่งเรืองมาช้านานแห่งนี้ ยังคงมีรอยยิ้มที่เป็นมิตรภาพกับผู้มาเยือน และจะลบรอยบาดแผลความรุนแรงให้หมดสิ้นไป
คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย...เรื่อง / ภาพ : สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์
ที่มา:http://www.komchadluek.net/detail/20130317/154006/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A1.html#.UUafITc0USl