แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก
korat_religion

 

 เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันที่หลวงปู่ จาม มหาปุญฺโญ แห่งวัดป่าวิเวกวัฒนาราม อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ละสังขารด้วยโรคปอดติดเชื้อในวัย 103 ปี

หลวงปู่จาม อรหันต์เจ้าแห่งแดนอีสาน เป็นพระอาจารย์สายกรรมฐานชื่อดัง ลูกศิษย์ของ พระครูวินัยธร หรือหลวงปู่ มั่น ภูริทตฺโต พระสายธรรมยุต สายกรรมฐานที่ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก

มีโอกาสเดินทางไปกราบสรีระสังขารของหลวงปู่จาม...

ขบวนรถแล่นจาก อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ไปตามทางหลวงสายที่ 12 มุ่งหน้า อ.คำชะอี เมื่อมาถึงกิโลเมตรที่ 751 ก็มองเห็น "พระธาตุเจดีย์บู่ทองกิตติ" เจดีย์ 5 ยอดปูกระเบื้องสีอิฐ สัญลักษณ์ของวัดป่าวิเวกวัฒนาราม ในบริเวณวัดร่มครึ้มไปด้วยเงาไม้ มีสิ่งก่อสร้างหน้าตาประหลาดอย่างกุฏิเสาเดียวซ่อนตัวอยู่

เข้ากราบสรีระสังขารของพระอาจารย์แล้ว จึงเข้าพบ ครูบาแจ๋ว หรือ พระธมฺธโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม

สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้จากครูบาแจ๋ว ก็คือเรื่อง "เจดีย์บู่ทองกิตติ" ที่โดดเด่นเป็นสง่านั่นเอง

ครูบาแจ๋วเล่าว่า การก่อสร้างเจดีย์บู่ทองกิตติ เกิดขึ้นเมื่อ นางบู่ทอง กิตติบุตร คหบดีเมืองเชียงใหม่ และบุตรหลานซึ่งเคยอุปัฏฐาก อุปถัมภ์หลวงปู่จามเมื่อครั้งอยู่เมืองเหนือมาตลอด เดินทางมากราบหลวงปู่จามที่วัดนานร่วม 30 ปี เมื่อเห็นพระบรมสารีริกธาตุ จึงบอกกับหลวงปู่ว่าทำไมวางไว้ในตู้อย่างนั้น หลวงปู่ท่านก็บอกว่าไม่มีกำลังทำให้ใหญ่โต โยมบู่ทองจึงมอบเงินให้ 1 ล้านบาท เพื่อเริ่มการก่อสร้างใน พ.ศ.2527 และบริจาคเงินมาเรื่อยๆกระทั่งเจดีย์สร้างเสร็จ ใน พ.ศ.2530 รวมเงินทั้งสิ้น 4 ล้านบาท โดยด้านนอกขององค์เจดีย์ หลวงปู่จามสั่งให้นำกระเบื้องดินเผามาติด


(บน) หลวงปู่จาม - ครูบาแจ๋ว (ล่าง) กุฏิเสาเดียวแห่งเดียวของประเทศ

จากการระดมสรรพกำลังช่างพื้นบ้าน มีองค์หลวงปู่จามเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เกิดเป็นเจดีย์สำหรับรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่มีความโดดเด่นทางศิลปะ

"ท่านสร้างตามแรงศรัทธา (งบประมาณ) โดยไม่ได้เขียนแบบร่าง หลวงปู่จะสั่งงานเอง เริ่มจากฐานรากที่ตอม่อของตัวเจดีย์วางบนพระลานหิน (หินดินดาน) ตีขึ้นไปไม่ได้ตอกเสาเข็ม ทำนั่งร้าน ท่านบอกว่าแบบนี้แหละเหมาะกับโยมบู่ทอง กิตติบุตร ที่ให้เงินมาประมาณ 5 ล้านบาท" ครูบาแจ๋ว กล่าว และว่า แม้จะมีคนทักท้วง ห่วงเรื่องความมั่นคงของโครงสร้างของพระเจดีย์ แต่กลับหมดความกังวล เนื่องจากหลังจากขุดดินลงไปก็พบกับหินดินดานก้อนใหญ่ รองรับพระเจดีย์พอดี

"พอตอนหลังสร้างพระอุโบสถถัดจากเจดีย์ กลับไม่เจอหินดินดานก้อนนั้นที่มีเพื่อรองรับเจดีย์เท่านั้นจริง ท่านมองทะลุดิน" รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนารามกล่าวอย่างศรัทธา

ที่ยอดของเจดีย์บู่ทองกิตตินั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอีก 4 ยอดที่อยู่รายรอบนั้น ประดิษฐานพระธาตุของอัครสาวก ได้แก่ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ รวมถึงพระธาตุของพระสีวลีและพระอุปคุต

ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เหมือนศิลปะสมัยโกธิค และไม่ได้ตอกเสาเข็ม จึงมีนักศึกษาและสถาปนิกเดินทางมาศึกษาไม่ขาดสาย

ครูบาแจ๋วเล่าว่า เมื่อเจดีย์บู่ทองสร้างเสร็จแล้ว ไม่มีการฉลองใดๆ เน้นให้เรียบง่ายที่สุด แต่มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ


(บน) พระเจดีย์บู่ทองกิตติ (ล่าง) กุฏิอีกหลังที่แสดงถึงความเรียบง่าย

"พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ท่านเก็บใส่ตู้กระจกและสั่งให้รักษาให้ดี เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งเพราะในรอบปีนั้นมีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาจำนวนมาก จนมีน้ำหนัก 14.9 กิโลกรัมจากเดิมที่มีไม่มากนัก นับว่ามากกว่าที่อื่นๆ นอกจากนั้น โยมบู่ทองยังบริจาคเงินสร้างศาลาทรงล้านนาประยุกต์อีกหลังหนึ่งด้วย"

เมื่อดูภาพถ่ายเก่าๆ พบว่าเป็นศาลาการเปรียญที่มี "กาแล" เป็นเครื่องหลังคาอย่างศิลปะล้านนา ไม่ใช่ช่อฟ้า ใบระกา หรือหางหงส์อย่างวัดทั่วไป ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกับศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน

พระธมฺธโรเล่าว่า เดิมเป็นศาลาไม้ขนาดเท่ากับที่เห็นในปัจจุบัน แต่ใช้เสาเพียง 4 ต้น มีคานรับน้ำหนักเครื่องหลังคาที่ประกอบกัน โดยมีลิ่มไม้เป็นตัวเชื่อม ไม่ได้ใช้ตะปูเพื่อตอกยึด โดยไม้ที่นำมาสร้างศาลาการเปรียญหลังเก่านั้นนำมาจากไม้ที่ยืนต้นตายในป่า ไม้ล้มขอนนอนในป่า และไม้หีบศพที่หลวงปู่จามแกะและสะสมไว้ ไม่ได้เบียดเบียนต้นไม้ที่ยังมีชีวิต

"แต่เมื่อตัวศาลาเริ่มทรุดโทรม จึงรื้อศาลาหลังเดิมแล้วนำไม้ กระเบื้อง และเครื่องมุงหลังคาส่วนใหญ่ไปบริจาควัดต่างๆ ส่วนที่เหลือได้นำไปซ่อมแซมศาลาในวัด" ครูบาแจ๋วกล่าว

สิ่งก่อสร้างอีกอย่างที่สะท้อนความสามารถทางสถาปัตย์ของหลวงปู่จาม คือ "กุฏิเสาเดียว" แห่งเดียวของเมืองไทย

ครูบาแจ๋ว ผู้ใกล้ชิดกับหลวงปู่จามตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เล่าว่า หลวงปู่จามเป็นผู้ออกแบบเองตั้งแต่ พ.ศ.2505 แต่เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2520-2525 มีเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1 ฟุต สูงเกือบ 3 เมตร รองรับตัวอาคารด้านบนที่สร้างจากไม้

"หลวงปู่อ่านในตำรา ว่ากษัตริย์โบราณปรารภจะสร้างปราสาทเสาเดียวแต่หาไม้ไม่ได้ มีไม้อยู่ต้นหนึ่งที่เป็นบ้านเรือนปราสาทวิมานของรุกขเทพบุตร แต่รุกขเทพบุตรอาศัยอยู่ก็เป็นทุกข์ใจ อาลัยที่อยู่ของตน เกิดความวุ่นวายใจจึงไปขอร้องรุกขเทวดา องค์ที่สถิตอยู่กอหญ้าแฝกให้มาแก้ไขให้ จนข้าราชบริพารของช่างไม้เลิกล้มความตั้งใจที่จะนำไม้ต้นนั้นไปทำเป็นเสาปราสาทเสาเดียวของกษัตริย์"

"เมื่อตรวจค้นจากชาดก ก็พบในกุสนาฬิชาดก (ชาดกว่าด้วยประโยชน์ของการคบมิตร) ที่เล่าว่า กุฏิรุ่นเก่าที่สร้างนับแต่ พ.ศ.2487 เป็นต้นมาเริ่มผุพัง ทั้งปลวกกัดแทะ มดแมลงคอยรบกวนทำลายข้าวของบริขาร หลวงปู่จึงได้แนวคิดในการสร้างกุฏิเสาเดียว เพื่อป้องกันมด ปลวก หนู แมลง หรือสัตว์อื่น ดูแลเพียงเชิงบันไดและต้นเสาเท่านั้น" รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนารามกล่าว

จากแนวคิดการพัฒนาวัดที่เน้นธรรมชาติ สิ่งต่อเติมก่อสร้าง กุฏิ ศาลาธรรม และพระเจดีย์ ผนวกกับความสามารถทางสถาปัตย์ของหลวงปู่จาม ผลคือ เกิดเป็น "มรดกธรรม" ในรูปแบบเสนาสนะซึ่งล้วนถูกสร้างอย่างกลมกลืนกับต้นไม้ที่อยู่รายรอบ

เกิดบรรยากาศที่เงียบสงบ ร่มรื่น และอบอุ่น ดำรงแนวคิดการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย หลีกเร้นจากผู้คน ตามคติของภิกษุสายธรรมยุต

 

ที่มา:,มติชนรายวัน

 

Go to top