น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีไขมันต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน และรักษาสุขภาพ
น้อยหน่า
น้อยหน่า ชื่อสามัญ Sugar apple, Sweetsop
น้อยหน่า ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona squamosa L. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
น้อยหน่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลาหนัง (ปัตตานี), หน่อเกล๊ะแซ (แม่ฮ่องสอน), มะนอแน่ มะแน่ (ภาคเหนือ), หมักเขียบ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น
น้อยหน่า มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลางและใต้ พบได้ทั่วไปในเขตร้อนรวมถึงบ้านเรา โดยจะเพาะปลูกมากในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะของผลน้อยหน่า เนื้อผลจะมีสีขาว ให้รสหวาน มีเมล็ดสีดำ ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆได้แก่ ผล ผลดิบ ผลแห้ง เมล็ด และใบ สำหรับบ้านเรานิยมนำใบหรือเมล็ดของน้อยหน่ามาใช้ในการกำจัดเหา เห็บหมัด เป็นต้น
ประโยชน์ของน้อยหน่า
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ เส้นผม และดวงตา
- น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีไขมันต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน และรักษาสุขภาพ (แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานถือเป็นข้อยกเว้น)
- ช่วยรักษาโรคหอบหืด (วิตามินซี)
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (เส้นใย)
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (วิตามินบี 3)
- ช่วยลดความดันโลหิต (โพแทสเซียม)
- ช่วยบำรุงหัวใจให้มีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
- มีส่วนช่วยรักษาโรคโลหิตจาง
- ใบน้อยหน่ามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอก (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคไขข้อและโรคข้ออักเสบ (แมกนีเซียม)
- ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แมกนีเซียม)
- ช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย (แมกนีเซียม)
- ช่วยส่งเสริมการผลิตพลังงานในร่างกาย (วิตามินบี)
- ช่วยในการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) (ทองแดง)
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการที่เด็กทารกพิการแต่กำเนิด (โฟเลต)
- ช่วยทำให้อาเจียน (ราก)
- ช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกปวดฟัน (เปลือกต้น)
- ช่วยในการย่อยอาการ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก (ผล)
- ใช้เป็นยาระบาย (ราก)
- แก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาสมานลำไส้ (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้รำมะนาด (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาโรคเริม (ผลแห้ง)
- ใช้แก้พิษงู (ผล, ราก, เปลือกต้น)
- แก้งูสวัด (ผลแห้ง)
- ช่วยสมานแผล ใช้เป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ อักเสบ น้ำร้อนลวก (ผล)
- น้อยหน่ามีสรรพคุณใช้แก้ฝีในลำคอ (ผล)
- ใช้แก้ฝีในหู (ผลแห้ง)
เมล็ดน้อยหน่ามีสรรพคุณช่วยรักษากลาก เกลื้อน ด้วยการใช้เมล็ดหรือใบน้อยหน่าสดนำมาคั้นเอาน้ำ แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ผล, ใบสด, เมล็ด)
ประโยชน์ของใบน้อยหน่า ใช้เป็นยารักษาหิด ด้วยการใช้สดหรือเมล็ดสดมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำมันพืชลงไปพอแฉะ แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 รอบ จนกว่าหิดจะหาย (ใบ, เมล็ด)
ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม (ใบ)
ช่วยฆ่าพยาธิ (ผล, ใบ)
ขอขอบคุณภาพจาก https://recipes.timesofindia.com/articles/health/10-interesting-health-benefits-of-custard-apple/photostory/65270191.cms
สรรพคุณของใบน้อยหน่าช่วยฆ่าพยาธิในเด็ก ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15 ใบนำมาต้มกับน้ำ 5 ถ้วยจนเหลือ 3 ถ้วยแล้วนำมาดื่มวันละ 3 ครั้ง (ใบ)
ใบน้อยหน่ากำจัดเหา ช่วยทำให้ไข่เหาฝ่อ ฆ่าเหา ด้วยการใช้ใบน้อยหน้าสดประมาณ 4 ใบนำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วเอาน้ำที่ได้มาชโลมให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วใช้หวีสางออก (หรือจะใช้แค่น้ำคั้นจากใบอย่างเดียวก็ได้) หรือจะใช้เมล็ดนำมาบดคั้นกับน้ำมะพร้าว (อัตราส่วน 1:2) แล้วกรองเอาแต่น้ำมาชโลมให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าโพกไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และห้ามชโลมยาทิ้งไว้ข้ามคืน ทำเสร็จแล้วให้สระผมทำความสะอาดทุกครั้ง (ใบ, เมล็ด)
ประโยชน์ของน้อยหน่าใช้เป็นยารักษาจี๊ด ด้วยการใช้เมล็ดสดประมาณ 20 เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วใช้สารส้มขนาดเท่าหัวแม่มือใส่ในฝาละมี ตั้งไฟอ่อน ๆ เมื่อสารส้มละลายแล้ว ให้โรยผงของเมล็ดน้อยหน่าลงไปทีละน้อย คนให้เข้ากัน หลังจากนั้นใช้ไม้ป้ายยาที่กำลังร้อนแต่พอให้ผิวหนังทนได้ แล้วป้ายลงตำแหน่งที่บวม ทำวันละ 2 รอบเช้าเย็น จนกว่าจะหาย (เมล็ด)
เมล็ดน้อยหน่ากำจัดเห็บหมัดในสุนัข สูตรเดียวกับกำจัดเหา (ใบ,เมล็ด)
คุณค่าทางโภชนาการของน้อยหน่าต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 94 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 23.64 กรัม
เส้นใย 4.4 กรัม
ไขมัน 0.29 กรัม
โปรตีน 2.06 กรัม
วิตามินบี 1 0.11 มิลลิกรัม 10%
วิตามินบี 2 0.113 มิลลิกรัม 9%
วิตามินบี 3 0.883 มิลลิกรัม 6%
วิตามินบี 5 0.226 มิลลิกรัม 5%
วิตามินบี 6 0.2 มิลลิกรัม 15%
วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
วิตามินซี 36.3 มิลลิกรัม 44%
ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม 2%
ธาตุเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม 5%
ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
ธาตุแมงกานีส 0.42 มิลลิกรัม 20%
ธาตุฟอสฟอรัส 32 มิลลิกรัม 5%
ธาตุโพแทสเซียม 247 มิลลิกรัม 5%
ธาตุโซเดียม 9 มิลลิกรัม 1%
ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
ข้อควรระวัง
น้ำคั้นจากใบน้อยหน่า ต้องระวังอย่าให้ถูกบริเวณตาหรือเปลือกตา บริเวณรูจมูก ริมฝีปาก เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน ถ้าเข้าตาอาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ ต้องให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
น้ำสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ควรระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้ระคายเคือง เยื่อบุตาอักเสบได้
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรบริโภคน้อยหน่าแต่เล็กน้อยและนาน ๆ ครั้ง เนื่องจากน้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด การรับประทานปริมาณมากอาจทำให้อาการของโรคเบาหวานกำเริบขึ้นได้
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.rspg.or.th, www.thaicrudedrug.com , www.lifestyle.iloveindia.com, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพประกอบ : Sudarat Homhual, kasetintree.com, health.todayza.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai) : https://medthai.com/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2/