เครื่อง ปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นเครื่องปั้นลูกผสมซึ่งอยู่ระหว่างเครื่องดิน (Earthen Ware) กับเครื่องหิน (Stone Ware) ผลิตขึ้นจากดินเหนียว ๒ ชนิด จากท้องนาบริเวณริมฝั่งมูล ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านด่านเกวียน
การปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จะเริ่มมาช้านานเพียงไร ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด สันนิษฐานกันว่า ครั้งแรกจะเริ่มปั้นไห เพราะเวลาชาวบ้านคุยกันว่า “ไปไหน” คำตอบคือ “ไปโรงไห” ซึ่งหมายถึงโรงที่มีการปั้นเครื่องดินเผา ต่อมาจึงมีการปั้นโอ่ง ครก และกระถางต้นไม้ ตามลำดับ
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ ราวๆ พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๘ บ้านเมืองขาดแคลนทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันก๊าด มีการใช้ตะเกียงน้ำมันหมู บ้านด่านเกวียนก็มีการปั้นตะเกียงที่ใช้น้ำมันหมูเป็นเชื้อเพลิง จะสังเกตเห็นได้ว่า การปั้นเครื่องปั้นดินเผาในระยะแรกๆ จะปั้นตามความต้องการของผู้ใช้ในท้องถิ่น และของตลาดในเมือง
ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้ง วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น ณ บริเวณทุ่งตะโกราย (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของวิทยาลัยครูนครราชสีมา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ อาจารย์วทัญญู ณ ถลาง ผู้อำนวยการกับคณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมได้ร่วมกันสำรวจศิลปะพื้นบ้าน และพบความใหม่แปลกของวัสดุดินด่านเกวียน จึงได้ช่วยกันออกแบบปั้นเป็นวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เพื่อตกแต่งภายในวิทยาลัย และช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวของดินด่านเกวียนไปในหมู่สถาปนิกทั่วประเทศ
ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้ง วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น ณ บริเวณทุ่งตะโกราย (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของวิทยาลัยครูนครราชสีมา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ อาจารย์วทัญญู ณ ถลาง ผู้อำนวยการกับคณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมได้ร่วมกันสำรวจศิลปะพื้นบ้าน และพบความใหม่แปลกของวัสดุดินด่านเกวียน จึงได้ช่วยกันออกแบบปั้นเป็นวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เพื่อตกแต่งภายในวิทยาลัย และช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวของดินด่านเกวียนไปในหมู่สถาปนิกทั่วประเทศ
ต่อมาจึงมีผู้สนใจมาช่วยออกแบบปั้นเป็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และเครื่องตกแต่งต่างๆ มากมาย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
จากบทความของคุณถาวร สุบงกช หนังสือที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิดอาคารหอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
ที่มา:http://www.finearts.go.th/node/5430