แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

 

   รัชกาลที่ 9 มิได้สถาปนาสมเด็จพระราชชนนีเป็นพระพันปีหลวงเพราะมิได้เป็นพระภรรยาเจ้าของ พระมหากษัตริย์ แต่ให้เป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งก็ไม่ควรจะมีใครไปเรียกเองว่าพระพันปี

ส่วนคำว่า “พระพันวัสสา” ก็แปลว่าผู้มีอายุยืนดุจจะถึงพันปีเหมือนกัน แต่เพื่อไม่ให้ซ้ำกับพระพันปี จึงคิดคำใหม่คู่กันอีกคำว่าพระพันวัสสา ใช้เป็นตำแหน่งเรียกพระภรรยาเจ้าของรัชกาลก่อนที่พระชนมายุยืนนานมาจนเป็น ย่าหรือป้าของรัชกาลใหม่ สมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้เรียกพระพันปี (นาค) มเหสีรัชกาลที่ 1 และเป็นพระบรมราชชนนีพระพันปีของรัชกาลที่ 2 ซึ่งดำรงพระชนม์ยืนมาจนถึงรัชกาลที่ 3 และเป็น “ย่า” ของพระองค์ว่าพระพันวัสสา สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นพระมาตุจฉา (ป้า) หรือพี่สาวแท้ ๆ ของแม่เป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พอถึงรัชกาลที่ 7 จึงให้เลื่อนเป็น “สมเด็จพระ” ปรากฏพระนามใหม่ว่าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 8 โดยที่ทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) แท้ ๆ จึงให้เฉลิมพระนามใหม่เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และดำรงพระยศนี้มาจนถึงรัชกาลที่ 9

ธรรมเนียมเช่นนี้ จีน พม่าก็มี บางครั้งใช้คำที่แปลเป็นไทยว่า “พระหมื่นปี” ด้วยซ้ำ!

k

  สมเด็จ พระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 60 ของรัชกาลที่ 4 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยม (เกิดในสกุลสุจริตกุล) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2405 คือวันนี้เมื่อ 150 ปีก่อน มีพระนามเดิมว่าพระองค์หญิงสว่างวัฒนา ทรงรับการศึกษาจากในวังเช่นราชนารีทั่วไป แต่ด้วยความที่ทรงขยันหมั่นเพียร ช่างสังเกตจึงทรงพระปรีชาในภาษาอังกฤษ ขนบธรรมเนียมในราชสำนัก และการสมาคมกับชาวต่างประเทศ ในปี 2421 ขณะมีพระชนมายุ 16 ปี ได้ทำราชการเป็นพระภรรยาเจ้าของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาต่างพระชนนี

   พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย และยังมีพระราชโอรสอื่นอีก 3 พระองค์ พระราชธิดาอีก 4 พระองค์ รวม 8 พระองค์ แต่แล้วสมเด็จฯ ก็ทรงประสบความวิปโยคอาดูรครั้งใหญ่เมื่อพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ทิวงคต และยังทรงสูญเสียพระราชโอรสธิดาในเวลาใกล้เคียงกันแทบหมดสิ้น ปี 2453 รัชกาลที่ 5 สวรรคต ในปี 2472 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสที่เหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวสิ้นพระชนม์ ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาอีกพระองค์สิ้นพระชนม์ลงอีกจนไม่มีพระราชโอรสธิดาเหลืออีกเลย สมเด็จฯ ถึงกับทรงอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปว่า “ขอให้ลืมให้หมด อย่าจำอะไรเลย ที่จำได้เป็นความทุกข์ทั้งนั้น”

k

   ตั้งแต่พระราชโอรส พระองค์ใหญ่ทิวงคต สมเด็จฯ ก็เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่จังหวัดชลบุรี จึงได้ทอดพระเนตรเห็นความยากลำบากของราษฎรในการรักษาพยาบาล ทรงสร้างโรงพยาบาลสมเด็จขึ้นที่ศรีราชา เป็นผู้นำการให้มีแพทย์เคลื่อนที่ ทรงรับอุปถัมภ์โรงพยาบาลศิริราช โปรดฯให้โรงพยาบาลมีน้ำประปาใช้ ทรงตั้งกองทุนส่งนักเรียนหญิงเข้าเรียนวิชาพยาบาล ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างโรงเรียนหลายแห่ง ทรงเป็นผู้หนึ่งที่เริ่มก่อการตั้งสภากาชาดสยามจนได้เป็นองค์สภานายิกาใน เวลาต่อมา

k

   ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงย้ายจากพระราชวังดุสิตออกมาปลูกวังสระปทุมอยู่ริมคลองแสนแสบ โปรดฯ ให้ทำสวนปลูกผักผลไม้ ได้ผลก็เอาไว้ทำครัว เหลือก็พระราชทานไปตามวังต่าง ๆ เหลือมากขึ้นก็ทรงแบ่งปันไปจำหน่าย ทรงกวดขันดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชบริพารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้ง การศึกษา สุขอนามัย และความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ทรงเป็นผู้นำสตรีในด้านการแต่งกาย การช่วยเหลือผู้อื่น การศึกษาสตรีและการสาธารณสุขชุมชนซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครทำ สมัยรัชกาลที่ 5 เคยทรงออกงานรับแขกเมืองจนได้รับคำชมเชยว่าทรงสง่างามไม่เคอะเขินเลย ที่สำคัญคือทรงเป็นหลักแห่งพระบรมราชวงศ์โดยแท้ พระราชโอรสธิดาของรัชกาลที่ 5 พระองค์ใดที่กำพร้าแม่ก็ทรงรับมาอุปการะ แม้แต่เมื่อรัชกาลที่ 6 ประชวรจวนสวรรคตก็ตรัสฝากลูกไว้กับ “สมเด็จป้า” สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ จึงอยู่ในพระอุปการะมาตลอด

k

  ที่น่ายกย่องน้ำพระทัยนักคือการพระราช ทานเสรีภาพแก่พระราชโอรสจนทรงยอมให้พระราชโอรสพระองค์เดียวที่เหลืออยู่เสก สมรสกับสตรีสามัญชนได้ และทรงวางพระทัยในพระสุณิศา (สะใภ้) อย่างเต็มที่ในอันที่จะอภิบาลดูแลพระราชนัดดา (หลานย่า) 3 พระองค์ ซึ่งเรื่องอย่างนี้อาจดูธรรมดาในสมัยนี้ แต่เมื่อ 80-90 ปีก่อนไม่ใช่เรื่องปกติเลย ถ้าผู้นั้นใจไม่กว้างพอ พระราชนัดดา 2 ใน 3 พระองค์นั้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และ 9

k

  สมเด็จฯ สวรรคตใน พ.ศ. 2498 พระชนมายุ 93 พรรษาเศษ นับว่าเป็นพระมเหสีเทวีที่พระชนมายุยืนนานที่สุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และจัดพระตำหนักในวังสระปทุมเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ วันนี้ครบรอบ 150 ปีแห่งพระประสูติการ และปีนี้ยูเนสโกประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านสาธารณสุข

จึงขอนำเรื่องของสมเด็จ 6 แผ่นดินพระองค์นี้มาเล่าสู่กันฟังในโอกาสนี้.

 

บทความจาก: http://www.dailynews.co.th/article/439/154390

 

Go to top