แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

    นายธวัชชัย  เปลี่ยนศรี ธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีบริษัท โคราช นอรีสท์ซิตี้ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปิดกิจการเป็นห้างสรรพสินค้าจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือครบวงจร ชื่อ ไอทีพลาซ่า ซึ่งได้รับสิทธิพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นม.58 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา หรือบริเวณลานจอดรถในปัจจุบัน โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 22 ปี 8 เดือน แต่ยังไม่สามารถจัดทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังตามที่บริษัทเสนอไว้ได้
    เนื่องจากผู้ประกอบการอ้างว่าเกิดปัญหาอุปสรรคหลายประการ  แม้ต่อมาทางบริษัทจะได้จัดทำการก่อสร้างอาคารพักอาศัยมูลค่า 7.6 ล้านบาท และวางท่อประปา มูลค่า 4.3 แสนบาท ชดเชยตามเงื่อนไขการประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่การก่อสร้างอาคารพักอาศัยดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการล่าช้ากว่าสัญญาเป็นเวลา 8 เดือน และการวางท่อประปาชดเชยได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ใช้เวลาดำเนินการนานถึง 14 ปี 11 เดือน ส่งผลให้การจัดทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังได้รับผลกระทบล่าช้าออกไปด้วย จึงเห็นควรยกเลิกการให้สิทธิ์บริษัท ในการพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว พร้อมจะเรียกค่าเสียหายอีกกว่า 10 ล้านบาท และได้เปิดประมูลหาผู้ลงทุนรายใหม่ตามระเบียบของทางราชการ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 บนที่ดินราชพัสดุแหล่งดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา โดยมีเอกชนมาซื้อซองประมูลไปแล้วจำนวน 7 ราย
    กำหนดเดิมจะให้ผู้เข้าประมูลยื่นซองและเปิดซองในวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากบริษัท โคราชนอรีสท์ ซิตี้ จำกัด ได้ไปยื่นร้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา เพื่อขอศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือยกเลิกการให้สิทธิ์ และให้ระงับการเปิดซองประมูลก่อสร้างอาคารในที่ดินราชพัสดุ ขณะนี้ทางสำนักงานธนารักษ์นครราชสีมา จึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อให้มีการประกาศยกเลิกพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นม.58 รายบริษัท โคราชนอรีสท์ ซิตี้ จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบจากส่วนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป 
    นายธวัชชัย กล่าวต่อไปว่า  ในการยื่นแบบแปลนการก่อสร้างอาคารของบริษัท โคราช นอรีสท์ซิตี้ จำกัด ตามโครงการที่เสนอในการประมูล คือ จะต้องยื่นแบบแปลนการก่อสร้างภายในระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ทางราชการแจ้งว่าเป็นผู้ได้รับกรรมสิทธิ์  คือ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 แต่บริษัทได้ส่งแบบแปลนการก่อสร้างครั้งแรกมาล่าช้ากว่ากำหนด 7 เดือน และขอแก้ไขแบบแปลนครั้งที่ 2 โดยเป็นลักษณะอาคาร 3 ชั้น มีดาดฟ้า และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีเนื้อที่ใช้สอย 9,652.38 ตร.ม. มูลค่าโครงการทั้งสิ้นกว่า 43 ล้านบาท  ซึ่งแบบแปลนที่ขอแก้ไข กรมธนารักษ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นแบบแปลนอาคารที่มีมูลค่าและเนื้อที่ใช้สอยน้อยกว่าอาคารตามโครงการที่ได้รับคัดเลือก ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์จึงไม่อนุญาต และให้บริษัทส่งแบบมาให้ภายใน 2  เดือน แต่บริษัทกลับไม่ดำเนินการภายในกำหนด กระทั่งเวลาผ่านล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้
    ธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา จึงเห็นว่า บริษัทไม่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวอย่างจริงจังให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูล และระยะเวลาที่กำหนด แม้ทางราชการจะให้โอกาสขยายระยะเวลามาหลายครั้งแล้ว  แต่กลับไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทำให้เกิดความล่าช้า จนทำให้การดำเนินการพัฒนาที่ดินราชพัสดุล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 22  ปี 8 เดือน ในขณะที่บริษัท ได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว โดยทำเป็นพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับผู้ใช้บริการของห้าง ทำการก่อสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และใช้ประโยชน์ในการโฆษณาสินค้า ถือเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ประวิงเวลาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการพัฒนาที่ราชพัสดุ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย เสียโอกาสในการได้รับทรัพย์สินและค่าเช่าอาคารที่ควรจะได้รับตามที่บริษัทเสนอไว้เสนอการประมูล 
    นายชาญณัฏฐ์  แก้วมณี รองอธิบดีกรมธนารักษ์  เปิดเผยว่า กรมยกเลิกสิทธิ์การประมูลที่ดินที่ราชพัสดุพื้นที่จังหวัดนครราชสีมากับบริษัท โคราชนอรีสท์ ซิตี้ จำกัด เนื้อที่ 1-1-47 ไร่ตามข้อเสนอของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้เนื่องจากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่จะก่อสร้างอาคารที่เป็นห้างสรรพสินค้าบนที่ดินมูลค่า 53 ล้านบาท นับจากปี 2534 แต่ที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันกินระยะเวลา 22 ปี 8 เดือน บริษัทดังกล่าวยังไม่ส่งแบบก่อสร้างให้อนุมัติและเซ็นสัญญากับกรมแต่ประการใด ทั้งที่เงื่อนไขกำหนดให้ต้องยื่นแบบก่อสร้างให้กรมอนุมัติภายในสัญญา คือ 8 เดือนแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ยื่นแบบ และจากการตรวจสอบพบว่า มีการประวิงเวลา โดยนำที่ดินที่ได้ไปหาประโยชน์เป็นที่จอดรถ รองรับลูกค้าที่มาใช้บริการในห้าง อย่างไรก็ดีที่ผ่านมากรมได้เปิดประมูลใหม่ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา แต่บริษัทดังกล่าวได้ร้องศาลปกครอง และต้องชะลอการประมูลยื่นซองออกไปไม่มีกำหนด             
    ด้านนายรณภพ กาญจนศิริ เจ้าของอาคารห้างสรรพสินค้า "นอรีสท์ ซิตี้"หรือ "ห้างไอทีพลาซ่า" ปัจจุบัน  เผยว่า ขณะนี้กำลังเปิดรับนักธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้ามาเช่าอาคารห้าง เนื่องจาก ผู้เช่าทำไอทีพลาซ่ารายเดิมจะหมดสัญญาในเดือนพฤศจิกายนนี้และไม่ขอต่อสัญญาเนื่องจากเหตุผลบางประการ  โดยมีข้อแม้ว่าผู้เช่ารายใหม่จะต้องทำการปรับปรุงห้างใหม่ทั้งหมด เพราะปัจจุบันห้างมีสภาพที่เก่ามาก
    สำหรับร้านค้าเช่าเดิมยังสามารถเปิดกิจการต่อไปได้ แต่อาจต้องเปลี่ยนแปลงสัญญาและทำสัญญาใหม่ ซึ่งการปรับปรุงห้างทั้ง 5 ชั้นคาดว่า ต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 100  ล้านบาท ซึ่งช่วงที่มีการปรับปรุงจะไม่ให้กระทบกับผู้เช่าโดยจะปรับปรุงไปทีละชั้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,984 วันที่  18 - 20  กันยายน พ.ศ. 2557

Go to top