แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

korat_world

 

รากฐานความคิดแบบอเมริกาที่สะท้อนอยู่ใน สุนทรพจน์หลังพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี ค.ศ. 2009 และ ค.ศ. 2012 : จากเรียกให้อเมริกันลุกขึ้นสู้ สู่การก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ

 

คำกล่าวสุนทรพจน์ หลังพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นถึงทัศนะที่ผู้นำอเมริกันมองความเป็นสหรัฐ อเมริกา

 

เมื่อนำสุนทรพจน์หลังพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2009 จะเห็นได้ว่า การมองรากฐานของตนเอง สิ่งที่ตนเองภาคภูมิใจ และลักษณะความเป็นอเมริกันนั้น โดยสาระสำคัญไม่ได้ต่างจากเดิม เนื่องด้วยมีแนวคิดสำคัญในเรื่อง ความฝันแบบอเมริกัน และ ลิขิตจากพระผู้เป็นเจ้าอยู่เช่นเดิม

 

ส่วนความแตกต่างนั้นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ สุนทรพจน์ปีนี้มีความเป็นเสรีนิยม และความมั่นอกมั่นใจในความเป็นอเมริกันมากกว่าสุนทรพจน์ใน ปี ค.ศ. 2009

 

ในด้านความเหมือนนั้น สุนทรพจน์ ทั้งสองครั้งก็พูดเรื่องการเดินทาง โดยสุนทรพจน์ปี ค.ศ. 2009 ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวถึงการเดินทางว่าหมายถึง การทำงานหนัก การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อความยิ่งใหญ่ของอเมริกาบนเส้นทางสู่ความรุ่งเรืองและเสรีภาพ อันเป็นการสะท้อนถึงแนวคิดความฝันแบบอเมริกัน(American Dream)

 

การยืนยันว่า อเมริกามีชะตาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงลิขิตไว้อย่างแจ่มแจ้งให้เป็นผู้ที่มี ความพิเศษ ((Manifest Destiny)   และความเชื่อมั่นตรงนี้ในที่สุด อเมริกาจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ และนี่คือใจความสำคัญของสุนทรพจน์ฉบับนี้

 

สรุปได้ว่า สุนทรพจน์ทั้งสองครั้ง เล่นประเด็นเรื่องการเดินทางทั้งคู่เลยในแบบที่อเมริกาเป็นชาติที่พิเศษ เป็นผู้นำของโลกด้วย และยืนยันว่าหลักคิดสำคัญของความเป็นอเมริกันจะที่เป็นเส้นทางสู่ความยิ่ง ใหญ่เกรียงไกรของชาติ

 

สำหรับความฝันแบบอเมริกันคือ ค่านิยมแบบนี้คือการเชื่อว่าอเมริกาคือดินแดนแห่งโอกาสที่เปิดให้กับทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบใด ถ้าทุ่มเท ทำงานหนัก ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ความฝันแบบอเมริกันนั้นมีรากฐานประการหนึ่งมาจากจริยธรรมแบบโปรแตสแตนท์ตาม นิกายคาลวินิสต์ และพิวริตัน  มองว่าการออมเงินและการลงทุนอย่างสมเหตุสมผลนั้นก็คือการมีจริยธรรมในทาง ศาสนา ผู้ที่ทำงานหนักและมีศรัทธาต่อพระเจ้าจนมั่งคั่งร่ำรวย เป็นผู้ที่น่ายกย่อง

 

เนื่องจากความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนว่าพวกเขาเป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากพระเจ้าให้เป็นผู้ที่จะรอดพ้น

 

ส่วนแนวคิดเรื่องชะตาที่พระเจ้าทรงลิขิตไว้แจ่มแจ้ง หรือภารกิจที่มิอาจปฏิเสธได้ (Manifest Destiny)  ได้ปรากฎชัดอยู่ในสุนทรพจน์ ปีค.ศ. 2009 และ 2013  ชะตาที่พระเจ้าทรงลิขิตไว้อย่างแจ่มแจ้งนี้ เป็นวลีที่ จอห์น โอ′ ซัลลิแวน (John O′Sullivan) นักหนังสือพิมพ์แห่งนิวยอร์กได้คิดขึ้นและนำมาใช้ในปี ค.ศ. 1845

 

แนวคิดนี้ประกอบขึ้นจาก ความเชื่อในความพิเศษที่คนอเมริกามีเหนือชาติอื่น (American exceptionalism)  ลัทธิชาตินิยม (nationalism) และ ลัทธิการขยายอาณาเขต (expansionism)

 

โดยในส่วนความพิเศษของคนอเมริกันที่สุนทรพจน์เน้นคือการยึดมั่นในหลักการ ในคำประกาศอิสรภาพ ดังเห็นได้ชัดใน สุนทรพจน์ ปี ค.ศ. 2013 นั้นย่อหน้าแรกหลังจากที่ประธานาธิบดีโอบามาเอ่ยถึงรองประธานาธิบดี ผู้พิพากษาศาลสูงสุด สมาชิกสภาคองเกรส แขกผู้มีเกียรติ และเพื่อนพ้องพลเมืองเป็นการทักทายนั้น

 

ประธาธิบดีโอบามากล่าวว่าแต่ละครั้งที่ คนอเมริกันมาร่วมฟังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เป็นการแสดงให้เห็น เป็นประจักษ์พยานถึงการมีความภาคภูมิใจกับรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งและได้แสดง ถึงความรู้สึกกล่าวว่า อเมริกามีความพิเศษกว่าชาติอื่น ตรงความยึดมั่นต่อแนวคิดในคำประกาศอิสรภาพว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้เท่า เทียมกันและมีสิทธิอันมิอาจพรากจากได้ในชีวิต อิสรภาพ และการแสวงหาความสุข หลักการนี้เป็นหลักสำคัญที่ประธานาธิบดีโอบามาจะผลักดันให้เกิดขึ้นอย่าง เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

หลักการนี้จึงเป็นการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของการบริหารประเทศ หลักการนี้เป็นดั่งเส้นทางของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นใจความสำคัญของสุนทรพจน์ครั้งนี้ และการกล่าวถึงความพิเศษของอเมริกา ก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง ชะตาที่พระเจ้าทรงลิขิตไว้แจ่มแจ้ง

 

 

ส่วนแนวคิดดังกล่าวที่ปรากฎในสุนทรพจน์ ปี ค.ศ. 2009 นั้น มีอยู่อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน หลังจากที่ประธานาธิบดีโอบามาขอบคุณผู้ฟังแล้ว เขาก็ได้กล่าวถึงงานอันยิ่งใหญ่เบื้องหน้า และขอบคุณคนอเมริกันที่มอบความไว้วางใจให้เขา และตระหนักถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ

 

สุนทรพจน์ฉบับนี้กล่าวชื่นชมบรรพบุรุษมากกว่าสุนทรพจน์ในปี ค.ศ. 2013 อย่างเห็นได้ชัด ถึงกับชี้ว่า ในช่วงที่อเมริกาเผชิญปัญหา แล้วเราก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ไม่ใช่เพราะอาศัยแต่แค่การมีทักษะหรือมีวิสัย ทัศน์ในการบริหารงานของผู้ดำรงตำแหน่งสูงๆ เท่านั้น เพราะนี่เป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป แต่ที่จริงสิ่งสำคัญที่สุดคือ เพราะพวกเราชาวอเมริกันได้ยึดมั่นต่ออุดมคติของบรรพบุรุษ คือหลักการในคำประกาศอิสรภาพนั่นเอง อุดมคตินี้ก็เป็นหลักคิดที่จะช่วยคนอเมริกันให้รุ่งเรืองในยามสงบและช่วย อเมริกาให้แก้ปัญหาในยามลำบากได้  และชื่นชมการต่อสู้ของบรรพบุรุษยุคบุกเบิกประเทศด้วยว่าเป็นแบบฉบับของการ ดำเนินชีวิต

 

แม้ว่าสุนทรพจน์ ปี ค.ศ. 2013 จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุดมคติเดิม แต่เน้นประเด็นของการผลักดันให้อุดมคตินี้เกิดขึ้นจริงอย่างสอดคล้องกับยุค สมัย และให้มีความเข้มข้นมากขึ้นในประเด็นสิทธิพลเมือง ดังนั้นสุนทรพจน์ปีปัจจุบันนี้จึงมีเนื้อหาที่เป็นเสรีนิยมมากกว่าสุนทรพจน์ ในปี ค.ศ. 2009

 

 

ในเรื่องชาตินิยมก็ได้สะท้อนให้เห็นในสุนทรพจน์ปีปัจจุบัน และในปี ค.ศ. 2009 ด้วยการที่ประธานาธิบดีได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจในความเป็นอเมริกัน การสดุดีวีรชนผู้กล้าที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ผู้เสียสละเพื่อให้ชาติเจริญรุ่งเรือง  และความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก  ส่วนเรื่องการขยายอาณาเขตนั้นคือการกล่าวถึงความเป็นผู้นำในการสร้าง สันติภาพและเสรีภาพให้กับโลกและการขยายประชาธิปไตยออกไป

 

 

สำหรับสุนทรพจน์ปี ค.ศ. 2009  ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงในช่วงที่ สหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยประธานาธิบดีกล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังทำสงครามต่อต้านเครือข่ายแห่งความรุนแรงและเกลียดชังที่มีขอบข่ายกว้าง ไกล ทางด้านเศรษฐกิจก็อ่อนแอ  ผู้คนตกงานจำนวนมาก หลายคนต้องสูญเสียบ้าน  เนื่องจากไม่สามารถผ่อนต่อได้ ส่วนการดูแลสุขภาพนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินไป  คนจำนวนมากมองว่าโรงเรียนหลายแห่งล้มเหลว ระบบบริการสุขภาพมีปัญหา และการบริโภคพลังงานของสหรัฐฯ อยู่ในขีดที่เป็นภัยคุกคามโลก

 

ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่า สภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ นั้นมาจากการที่คนบางส่วนใส่ใจต่อผลประโยชน์ส่วนตัวอันคับแคบ  มีความละโมภ ขาดความรับผิดชอบ

 

แต่สาเหตุอีกประการหนึ่งก็มาจากการที่พวกเราชาวอเมริกันเองทั้งหมดที่ยัง ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องที่ยากๆ  และยังไม่สามารถเตรียมชาติไปสู่ยุคใหม่ได้ เหล่านี้เป็นความท้าทายที่รุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม อเมริกาจะแก้ปัญหาได้ในที่สุด เพราะปัญหาเหล่านี้ใหญ่ต้องใช้เวลา และที่ปัญหาจะแก้ไขได้ก็เพราะความพิเศษของอเมริกา


ประธานาธิบดีโอบามา ใช้ประโยคว่า “อเมริกาทำได้ก็เพราะว่า นี่คืออเมริกา”  ตรงประโยคที่ว่าเราจะเอาชนะสิ่งท้าทายเหล่านี้ได้ ซึ่งคำว่า เอาชนะนั้น  ประธานาธิบดีโอบามาได้ใช้คำว่า meet ในประโยคที่ว่า  They(ในที่นี้คือ ความท้าทายต่างๆ) will be met.

 

เราอาจใช้ประโยคว่า  We will meet  challenges.เพื่อสื่อความหมายเดียวกันได้อีกด้วย  จากประโยคดังกล่าว คำว่า meet จึงมีความหมายว่า  ประสบความสำเร็จ(succeed) ได้เช่นกัน


การกล่าวเช่นนี้ เป็นการให้ความมั่นใจกับคนอเมริกัน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในอเมริกา

 

ในสุนทรพจน์พ.ศ. 2009 นั้น ประธานาธิบดีโอบามา ได้เน้นเรื่อง ของการมีความหวัง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แล้วประเทศอเมริกามีลักษณะอย่างไร  ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า อเมริกายังคงเป็นประเทศที่ยังเยาว์อยู่ (We remain a young nation) ซึ่งในที่นี้นอกจากจะแปลกันตามตัวว่า เป็นประเทศใหม่ ในแง่ของการมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ไม่นานนักเมื่อเทียบกับประเทศเก่า แก่แถบยุโรป

 

แต่เราอาจตีความได้ว่าน่าจะหมายถึงการเป็นประเทศที่มีพลัง เนื่องจากสุนทรพจน์นี้ได้กล่าวถึงการที่ประเทศอเมริกานั้นเปี่ยมไปด้วยพลัง ความสดชื่น และความหวัง เป็นลักษณะตามธรรมดาธรรมชาติของหนุ่มคนสาวส่วนใหญ่

 

จากนั้น ประธานาธิบดีโอบามากล่าวต่อไปโดยอ้างถึงความในคัมภีร์ไบเบิลว่า ถึงเวลาที่จะต้องเลิกความคิดจิตใจแบบเด็กๆ ประมาณว่า อเมริกามีพลังแห่งความเยาว์วัย แต่ไม่ใช่มีความคิดอ่านแบบเด็ก  เพราะประธานาธิบดีได้กล่าวต่อว่า  ถึงเวลาที่เราจะต้องยืนหยัดที่จะทำตามจิตวิญญาณของเราที่เชื่อมั่นว่าพระ เจ้าสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมกันทั้งหมด  และต่างเป็นอิสระและพึงได้รับโอกาสที่จะไขว่คว้าแสวงหาความสุขให้กับตัวเอง และเราต้องสืบทอดจิตวิญญาณนี้ต่อไปยังคนรุ่นหลัง การเลิกเป็นเด็ก

 

จึงน่าจะหมายถึงเลิกลังเลใจและให้หันมาดำเนินชีวิตตามแนวคิดที่เชื่อมั่นในความเสมอภาค เสรีภาพ และ การแสวงหาความสุข

 

นอกจากนี้ยังมีการชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศอเมริกัน และความยิ่งใหญ่นี้ได้มาจากการต่อสู้ การแสวงหาให้ได้มา  ไม่ใช่เรื่องของการเดินทางลัด หรือการลงทุนไปน้อยกว่าที่ควรจะได้จริงๆ

 

สุนทรพจน์นี้เน้นกล่าวถึงบรรพบุรุษมากอย่างเห็นได้ชัดได้อ้างถึงอดีตของ คนอเมริกันสมัยที่มาตั้งรกรากกันเลยทีเดียว ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้ยกย่องบรรพบุรุษยุคบุกเบิก  สมัยที่มีการข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกา คนเหล่านี้ทำงานหนัก เพื่อชีวิตใหม่ ตรากตรำกับการถางดินเพื่อเพาะปลูกจนมือบวม (raw นอกจากจะแปลว่าดิบแล้วยังแปลว่า บวม ระบม เมื่อพูดถึงผิว หรือ ลำคอ ได้อีกด้วย) ทำงานกันหนักหนาสาหัส

 

 

ส่วนคนผิวดำก็ยังต้องเผชิญกับทารุณกรรม  เหนื่อยยากลำบาก  คนเหล่านี้เองไม่ว่าเขาจะได้รับการเอ่ยหรือไม่แต่ พวกเขาทั้งหมดนี้เองที่ช่วยกันปูทางไปสู่ความเป็นชาติอเมริกาที่ยิ่งใหญ่  ด้วยการเดินบนเส้นทางชีวิตของอเมริกันที่เป็นแบบฉบับ  อันเป็นส้นทางของผู้ที่มีจิตใจกล้าแกร่ง  ไม่ใช่เป็นเส้นทางของพวกที่ขลาดกลัว หรือพวกรักแต่จะหาความสุขสบายแต่คือเส้นทางของผู้ที่ทำงานหนัก และไม่ใช่เส้นทางของพวกที่แสวงหาแต่ความสุขเพลิดเพลินจากความมั่งคั่งร่ำรวย และความมีชื่อเสียง

 

ส้นทางการใช้ชีวิตของคนเอเมริกันแบบนี้เป็นค่านิยม ความฝันแบบอเมริกันที่ประธานาธิบดีโอบามามองว่า เป็นสิ่งที่ทำให้อเมริการุ่งเรืองและมีอำนาจมากที่สุด ทั้งยังมีความสามารถแบบที่ไม่มีการเสื่อมถอย

 

แม้ว่าค่านิยมนี้จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ไว้มากเพียงใด  แต่ก็ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงจิตใจแบบอเมริกัน ที่มองโลกอย่างมีความหวัง และในภาวะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน  ประธานาธิบดีได้เรียกขวัญกำลังใจให้คนอเมริกันด้วยการกล่าวว่า  ให้อเมริกันชนเริ่มต้นในวันนี้  ต้องลุกขึ้นมาสู้ (we must pick ourselves up) เตรียมตัวให้พร้อม(dust ourselves off  ถ้อยคำนี้ ถ้าแปลตามตัวจะแปลว่า ปัดฝุ่นซะ ซึ่งหมายถึง  เตรียมพร้อม) เพื่อสร้างชาติอเมริกันให้แข็งแกร่งขึ้นดังเดิม

 

ประธานาธิบดีโอบามายังได้กล่าวอีกว่า แม้การท้าทายต่างๆ จะเป็นเรื่องใหม่ และแม้วิธีการเครื่องมือที่จะใช้แก้ไขปัญหาจะใหม่ด้วย แต่ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้นอาศัยคุณค่าต่างๆ ที่มีมาแต่เดิมเป็นพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ความซื่อสัตย์ การทำงานหนัก ความกล้าหาญ การดำเนินการอย่างเที่ยงธรรม ความมีขันติ ความใฝ่รู้  ความภักดี ความรักชาติ และคุณค่าทั้งหลายเหล่านี้ นั้น เป็นพลังที่ส่งให้เกิดความก้าวหน้า มาตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

กล่าวได้ว่า รากฐานของการแก้ปัญหานั้นมีอยู่แล้ว ปัญหาต่างๆ จึงสามารถคลี่คลายได้ในที่สุด หากชาวอเมริกันร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการลุกขึ้นสู้

 

และสิ่งที่เรียกร้องให้ทุกคนต้องทำคือการหวนกลับไปหาความจริงเหล่านี้  เพื่อก้าวไปสู่ยุคใหม่แห่งความรับผิดชอบ อันหมายความว่า เป็นการตระหนักว่า เราชาวอเมริกันทุกคน มีหน้าที่ต่อตัวเราเอง ต่อชาติ และโลก และเป็นหน้าที่ที่ไม่ใช่ว่าเรากล้ำกลืนฝืนใจทนแต่เรารับหน้าที่นี้มาด้วย ความชื่นบาน และรู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีสิ่งใดที่จะสร้างความปลาบปลื้มยินดีให้กับจิต วิญญาณของเรา รวมทั้งไม่มีสิ่งอื่นใดที่สามารถอธิบายความเป็นเราชาวอเมริกันได้ดีไปกว่า การอุทิศตัวอย่างเต็มที่ให้กับงานที่ยากลำบากนี้อีกแล้ว

 

สิ่งนี้คือราคาและข้อตกลงของความเป็นพลเมือง สุนทรพจน์ฉบับนี้ยังเน้นความสำคัญของกฎบัตรแห่งสิทธิของมนุษย์ และหลักนิติธรรม ที่มีขอบข่ายกว้างขึ้นด้วยเป็นผลมาจากการต่อสู้ของเหล่าผู้กล้าทั้งหลาย ประธานาธิบดีโอบามานั้น ยังยกย่องบรรพบุรุษที่เสียเลือดเสียเนื้อเพื่อเสรีภาพ และเพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติอเมริกา

 

น่าสังเกตว่า สุนทรพจน์นี้ เป็นการกล่าวยกย่องบรรพบุรุษนั้น แล้วเชื่อมร้อยโยงอดีตอันทรงคุณค่าไปสู่การแก้ปัญหาในปัจจุบัน และ สู่ความก้าวหน้าในอนาคต ทั้งยังยืนยันถึงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำของชาติพันธมิตรเพื่อไปสู่ยุคแห่ง สันติภาพโลก สำหรับโลกมุสลิมนั้น ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงจุดยืนของอเมริกาว่าต้องการแสวงหาหนทางที่สอด คล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายและต่างเคารพกันและกัน

 

สรุปว่า สุนทรพจน์ปี ค.ศ. 2009 กล่าวถึงปัญหาหนักที่อเมริกากำลังเผชิญอยู่ แต่ด้วยความหวัง ความมุ่งมั่น ประกอบกับความพิเศษของคนอเมริกัน จะช่วยให้อเมริกันยิ่งใหญ่ดังเดิม

 

ส่วนบรรยากาศในปี ค.ศ 2013 นั้น ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวว่าทศวรรษแห่งสงครามกำลังจะยุติลงแล้ว และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มต้นขึ้น และ ความเป็นไปได้ของอเมริกานั้นไร้ขอบเขต  เพราะคนอเมริกันนั้นมีคุณสมบัติทั้งหมดที่โลกที่ไร้พรมแดนต้องการ ซึ่งได้แก่ ความหนุ่มสาว แรงผลักดัน ความหลากหลาย และ การเปิดกว้าง ความสามารถที่ปราศจากข้อจำกัดในการเสี่ยงและพรสวรรค์สำหรับการประดิษฐ์คิด ค้นใหม่ๆ(reinvention)

 

 

ประการแรก สุนทรพจน์ทั้งสองครั้งนี้ ต่างอ้างอิงถึง คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา  โดยสุนทรพจน์ ปี ค.ศ. 2013 นี้ ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่า  สิ่งที่ทำให้คนอเมริกันมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครก็คือการที่คนอเมริกันยึด มั่นหลักการในคำประกาศอิสรภาพที่ร่างขึ้นมาเมื่อกว่าสองศตวรรษแล้ว  ที่ว่า  มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาให้เท่าเทียมกัน พระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่ไม่อาจพรากไปได้ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต อิสรภาพ และการแสวงหาความสุข

 

อย่างไรก็ดี สุนทรพจน์ปีนี้ มีเนื้อหาที่เป็นเสรีนิยมมากยิ่งกว่าสุนทรพจน์ เมื่อปี ค.ศ. 2009 ดังจะเห็นได้ชัดเจนยิ่ง จาก

การเชื่อมโยงประเด็นที่ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน และมนุษย์ได้รับสิทธิสามประการจากพระผู้สร้าง ไปสู่การกล่าวสนับสนุนแนวคิดในการบังคับใช้กฎหมายกับพวกรักร่วมเพศได้อย่าง เท่าเทียมเฉกเช่นผู้ที่รักต่างเพศ อันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนถึงจุดยืนของประธานาธิบดีโอบามาที่มองการแต่ง งานระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ควรจะทำได้อย่างถูกกฎหมาย

 

จากเนื้อหาในสุนทรพจน์ปีนี้ข้างต้น เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสหรัฐฯ   เนื่องจาก ประธานาธิบดีโอบามา เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่กล่าวถึงสิทธิของเกย์อย่างชัดเจนและจริงจัง ประธานาธิบดีโอบามาเป็นคนแรกที่พูดถึงสิทธิของเกย์อย่างเปิดเผย

 

มีการกล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall uprising) ในปี ค.ศ. 1969 เป็นเหตุการณ์ที่ชาวเกย์มาชุมนุมประท้วงกรณีที่ตำรวจนิวยอร์คบุกเข้าบาร์และ ปฏิบัติไม่ดีด้วยต่อผู้คนในบาร์อยู่หลายต่อหลายครั้ง   เหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์นั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของ ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวเกย์ในสหรัฐฯ

 

ประโยคสำคัญในประเด็นสิทธิเกย์นี้คือ คำกล่าวว่า การเดินทาง(เพื่อให้หลักการในคำประกาศอิสรภาพเกิดขึ้นได้อย่างเป็น รูปธรรม)ของเรายังไม่สมบูรณ์จนกว่าพี่น้องหญิงชายชาวเกย์ของพวกเราจะได้รับ ปฏิบัติต่อด้วยตามหลักกฎหมายในแบบเดียวกับคนอื่นๆ   เพราะหากถูกสร้างมาอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ แล้ว  แน่นอนว่า ความรักที่เรามอบให้กันและกันต้องเป็นความรักที่เท่ากันด้วย

 

“Our Journey is not complete until our gay brothers and sisters are treated like anyone else under the law – for if we are truly created equal,then surely the love we commit to one another must be equal as well.”

 

ประโยคนี้น่าสนใจในแง่ที่ว่า เป็นการอ้างถึงการที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน แล้วโยงมาสู่การสรุปว่า ความรักไม่ว่าจะแบบที่มีต่อเพศเดียวกัน หรือความรักต่างเพศ ก็คือ ความรักเหมือนกัน ก็จะต้องเท่าเทียมกันด้วย

 

การปฏิบัติต่อผู้ที่มีความรักไม่ว่าจะเป็นแบบใด ก็ควรจะต้องตระหนักถึงความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ ดังนั้นกฎหมายจึงควรต้องวางกติกาข้อกำหนดกฎระเบียบให้ไม่เป็นการกีดกันหรือ เลือกปฏิบัติให้ความรักในเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่อยู่ในฐานะต่ำต้อยด้อยค่า กว่า

 

อีกประการหนึ่ง เมื่อความรักที่มนุษย์มีต่อกันทั้งสองรูปแบบต่างมีฐานะเท่าเทียมกันแล้ว เราจึงไม่ควรดูหมิ่นดูแคลนหรือเหยียดหยามทำร้ายผู้ที่มีความรักในแบบที่ต่าง จากเราด้วย เรียกได้ว่า ประโยคนี้สื่อความคู่กันทั้งแนวการบัญญัติกฎหมายและแนวการปฏิบัติต่อกัน ระหว่างมนุษย์ในประเด็นเรื่องความรักด้วย

 

ในส่วนของการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ประเด็นอื่นๆ นั้น เขาได้กล่าวถึงประเด็นสิทธิพลเมืองอื่นๆ เช่น สิทธิของผู้หญิง  และให้ความหมายถึงสิทธิพลเมืองที่มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางด้วย เขายังได้กล่าวถึงความเป็นพลเมืองว่ามีพลังอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ เนื่องจากพลเมืองนั้น พันธกรณีในการร่วมกำหนดประเด็นอภิปรายด้วยการปกป้องคุณค่าและอุดมคติดั้ง เดิมต่างๆ

 

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามายังได้กล่าวอีกด้วยว่า คนอเมริกันนั้นไม่เพียงแต่จะมีพันธกรณีที่จะต้องดูแลคนอเมริกันด้วยกันเอง  แต่ต้องดูแลคนรุ่นหลังด้วย ซึ่งนี่ก็คือ สิทธิของคนอเมริกันรุ่นหลังนั่นเอง  ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยที่มีอยู่ในสุนทรพจน์ปี ค.ศ. 2013 จึงมีความเข้มข้นมาก เพราะเรื่องสิทธิได้ครอบคลุมไปถึงการดูคนรุ่นต่อๆ มาอีกด้วย

ดังจะเห็นจากการเน้นถึงการหันไปใช้พลังงานธรรมชาติมากขึ้น ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่าอเมริกาจะดูแลสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์โลกเพื่อคนรุ่น หลัง และจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้แหล่งพลังงานที่ยั่งยืน

 

 

ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาว่าเป็นประเทศที่ทรงพลังอำนาจ มากที่สุด และจะเป็นผู้นำในการสนับสนุนประชาธิปไตย สุนทรพจน์ครั้งนี้เขียนไว้ชัดเจนในแง่นี้ ขณะที่สุนทรพจน์แรกนั้นเน้นการที่อเมริกาต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย และอเมริกาพร้อมที่จะเป็นผู้นำให้กับทุกชาติและทุกคนที่มุ่งสู่อนาคตที่มี สันติภาพและมีศักดิ์ศรี และจะเน้นการมีส่วนร่วมจากชาติต่างๆ

 

สุนทรพจน์ฉบับที่สองเน้นบทบาทระดับโลกของอเมริกามากยิ่งขึ้น ด้วยการกล่าวว่าอเมริกานั้นจะเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับวิกฤตภายนอก ประเทศ ทั้งนี้เพราะอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ทรงพลังอำนาจที่สุดในโลกจึงมีส่วนได้ ส่วนเสียมากที่สุดกับความเป็นไปของโลก

 

หากโลกมีสันติ ก็เป็นประโยชน์ต่ออเมริกา และอเมริกาก็จะช่วยผู้ที่เรียกร้องเสรีภาพ เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของอเมริกาเองและเป็นจิตสำนึกที่อเมริกาจะดำเนินตาม หลักการที่ตนยึดมั่นด้วย

 

 

นอกจากนี้ อเมริกาก็จะเป็นความหวังให้กับคนยากจน คนป่วย คนชายขอบ และเหยื่อแห่งอคติ ซึ่งนี่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องการกุศล  แต่การส่งเสริมหลักการที่อเมริกายึดถืออันได้แก่ ขันติธรรม โอกาส ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ช่วยให้โลกของเรามีสันติภาพ

 

สำหรับสุนทรพจน์ครั้งที่ 2 นี้มีการกล่าวว่า อเมริกานั้นจะปกป้องพลเมืองของตนและยึดถือคุณค่าของตนเองด้วยความแข็งแกร่ง ทางด้านอาวุธ และหลักนิติธรรม แต่อเมริกาจะแสดงให้เห็นถึงความหาญกล้าที่จะพยายามยุติปัญหาความแตกต่างกับ ชาติอื่นอย่างสันติ มิใช่ว่าอเมริกาไม่รู้ว่าเผชิญอันตรายประการใดบ้าง แต่เพราะว่า การตกลงกันอย่างสันติวิธีช่วยขจัดความกลัวและความสงสัยได้อย่างยั่งยืนกว่า

 

จะเห็นได้ว่า สุนทรพจน์ ปี ค.ศ. 2013 นี้ ประธานาธิบดีโอบามามีน้ำเสียงที่มั่นใจยิ่งขึ้น  เป็นเสรีนิยมขึ้น และเน้นการเป็นผู้นำของโลกมากขึ้นกว่าสุนทรพจน์หลังพิธีสาบานตนเข้าดำรง ตำแหน่งใน ปีค.ศ. 2009

 

อย่างไรก็ ตาม สิ่งที่ยังมีอยู่เป็นรากฐานอันสำคัญและหนักแน่นและเป็นพลังผลักดันให้ อเมริกาไปข้างหน้าตามที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวมาก็ยังเป็น เรื่อง ความฝันแบบอเมริกัน และ ชะตาที่พระผู้เป็นเจ้าลิขิตให้ชาติอเมริกันไม่ธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ
-------------------------------------------------------------

 

เรื่อง : ดร.โชติสา ขาวสนิท
อาจารย์พิเศษ ภาครัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
 
ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1360824416&grpid=&catid=03&subcatid=0305
 
Go to top